มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
โดย ธันยา รัตนาวะดี BBLAM
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในปี 2020 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แม้เศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัวลง แต่เวียดนามกลับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการ Work-From-Home ในช่วงปิดเมืองของหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2022 จากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งสืบเนื่องมาจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั่วโลก เพื่อควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูง รวมถึงค่าเงินดองที่ขาดเสถียรภาพ ประกอบกับปัญหาในประเทศที่รัฐบาลยังคงเข้มงวดการปราบปรามคอร์รัปชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการควบคุมสภาพคล่องจากการให้สินเชื่อของภาคธนาคาร และเพิ่มความเข้มงวดในการออกหุ้นกู้ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ สะท้อนผ่านตัวเลขนำเข้าที่หดตัวลงกว่า 8.1% ในไตรมาส 4 ปี 2022 โดยหลายบริษัทได้ตัดสินใจลดการซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ภาคการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจในและนอกประเทศ
ปัญหาดังกล่าวยังคงยืดเยื้อมาถึงปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมากต่อภาคการส่งออกและการบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเศรษฐกิจเวียดนาม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายในการรักษาอัตราการเติบโต GDP ที่ 6.5% และตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 4.5% โดยอาศัยการลงทุนจากโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนการเติบโต
เวียดนามได้ตั้งงบประมาณการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไว้ที่ 4% ของ GDP ในทุกๆ ปี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี 2023 เป็น 7% ของ GDP โดยแผนการลงทุนนี้ได้รวมถึงแผนการก่อสร้างทางด่วนพิเศษจากเหนือลงใต้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศและเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจเวียดนาม นอกจากนี้ ยังสร้างอาคารผู้โดยสารในสนามบินเพิ่ม เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีแผนการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในประเทศอีกมากมาย ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตระดับโลกในระยะยาว
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยในช่วงที่ผ่านมาหลายธุรกิจทั่วโลกได้ลดความเสี่ยงจากปัญหาห่วงโซ่การผลิต โดยการกระจายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังประเทศต่างๆ อย่างเวียดนาม ที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศอย่างมากในเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากจุดเด่นในเรื่องค่าจ้างและทักษะแรงงาน รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ สิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษี และตําแหน่งทางกลยุทธ์ของประเทศที่ใกล้กับจีน มีบริษัทชื่อดังต่างๆ อย่าง Samsung LG หรือ Apple เข้ามาลงทุนด้วย การเบิกจ่ายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามในปี 2022 อยู่ที่ประมาณเกือบ 22.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นจำนวนเงินสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีถัดๆ ไป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การบริโภคภายในประเทศเติบโต และช่วยเพิ่มความต้องการของตลาดแรงงานที่จะส่งผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น
การฟื้นตัวของกลุ่มท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้ เวียดนามมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 18 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 30% ในปี 2019 ซึ่งในช่วงนั้น เวียดนามมีสัดส่วนการท่องเที่ยวต่อ GDP เพียง 9% โดยถือเป็นสัดส่วนที่เล็กและได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 น้อยกว่าประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างไทย ที่มีสัดส่วนการท่องเที่ยวต่อ GDP ประมาณ 18% อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในเวียดนามมีเพียงราว 4 ล้านคน และเป็นชาวจีนประมาณ 3% โดยในปัจจุบัน เวียดนามมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้โตขึ้นกว่าปี 2019 อย่างการสร้างสนามบินและเส้นทางคมนาคมต่างๆ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวยามค่ำคืนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยการเปิดประเทศของจีนในปีนี้จะเป็นอีกแรงที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ
ถึงแม้เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะส่งผลกระทบต่อเวียดนามในด้านการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้เวียดนามเติบโตในปีที่ผ่านๆ มา แต่เวียดนามได้เปลี่ยนกลยุทธ์มาพัฒนาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อรักษาเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดย B-VIETNAM และ B-VIETNAMRMF ลงทุนในสามกลุ่มนี้เป็นหลัก จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในเวียดนามระยะยาว
(ที่มาบางส่วนจาก Knoema, Vietnam Plus, GSO, และ Trading Economics)