กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2566 ขึ้นเล็กน้อย โดยระบุถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในไตรมาสแรก แต่ยังคงกล่าวเตือนถึงความท้าทายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะบั่นทอนแนวโน้มระยะกลาง
IMF ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด ว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังลดลง และความตึงเครียดอย่างเฉียบพลันในภาคการธนาคารลดลง อย่างไรก็ตาม ความสมดุลของความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญยังคงเอียงไปสู่ด้านลบ ในขณะที่ สินเชื่อยังตึงตัวอยู่ โดยกล่าวว่า ขณะนี้คาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงทั่วโลกของปีนี้อยู่ที่ 3.0% เพิ่มขึ้น 0.2% จากการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน ในขณะที่ยังคงแนวโน้มในปี 2567 ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 3.0% เช่นกัน
การคาดการณ์การเติบโตในปี 2566-2567 ยังคงอ่อนแอ หากเปรียบเทียบตามมาตรฐานในอดีต ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่ 3.8% ในปี 2543-2562 โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากการผลิตที่อ่อนแอในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และอาจคงอยู่ในระดับนั้นต่อไปอีกหลายปี
“เรากำลังมาถูกทาง แต่เราไม่ได้ออกจากจุดอันตราย” ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยสังเกตว่า การปรับขึ้นดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการไตรมาสแรกเป็นส่วนใหญ่ พร้อมกันนั้นยังระบุว่า สิ่งที่ IMF เห็นเมื่อมองไปอีก 5 ปีข้างหน้านั้น จริงๆ แล้วเกือบจะเห็นการเติบโตถึง 3.0% หรืออาจสูงกว่า 3.0% เล็กน้อย
IMF ระบุว่า แนวโน้มในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีเสถียรภาพอย่างชัดเจนในปี 2566-2567 โดยคาดว่าจะเติบโต 4.0% ในปี 2566 และ 4.1% ในปี 2567 แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ความพร้อมของสินเชื่อมีจำกัด และมีความเสี่ยงที่ปัญหาหนี้อาจแพร่กระจายไปยังกลุ่มเศรษฐกิจในวงกว้าง
IMF กล่าวต่อโดยระบุถึงการตัดสินใจขององค์การอนามัยโลกในการยุติภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้โลกอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น การขนส่งและเวลาในการจัดส่งสินค้าต่างๆ กลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่บั่นทอนการเติบโตจากปี 2565 ยังมีอยู่ โดย IMF อ้างถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งกำลังกัดกร่อนกำลังซื้อของครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และการเข้าถึงสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นอันเป็นผลมาจากความเครียดของธนาคารที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม
นอกจากนั้นแล้ว IMF ยังระบุว่า การค้าระหว่างประเทศ และตัวชี้วัดอุปสงค์ และการผลิตในภาคการผลิตล้วนชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอ แม้ว่าความกังวลที่เกิดขึ้นทันทีเกี่ยวกับประสิทธิภาพทางการเงินของภาคการธนาคาร ซึ่งรุนแรงมากขึ้นในเดือนเมษายนบรรเทาลงแล้ว แต่ความวุ่นวายในภาคการเงินอาจกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากตลาดปรับตัวเพื่อให้ธนาคารกลางเข้มงวดมากขึ้น
ที่มา: รอยเตอร์