จนท.เฟดกังวลเงินเฟ้อยังสูง แนะใช้ความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลด

จนท.เฟดกังวลเงินเฟ้อยังสูง แนะใช้ความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลด

เจ้าหน้าที่หลายคนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดควรรอหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชะลอตัวของเงินเฟ้อ ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย

นายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน รองประธานเฟด กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมธนาคารเพื่อการกู้จำนอง (Mortgage Bankers Association) ในรัฐนิวยอร์กเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) ว่า เขาไม่สามารถบอกได้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% แม้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย.จะออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ก็ตาม พร้อมกับแนะนำให้เฟดดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบระมัดระวัง

“ผมคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างยั่งยืน” นายเจฟเฟอร์สัน กล่าว พร้อมระบุว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันถือเป็นระดับที่มีความเข้มงวด และปฏิเสธที่จะคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยกล่าวเพียงว่าเขากำลังประเมินข้อมูลเศษฐกิจและความเสี่ยงในด้านต่างๆ อย่างระมัดระวัง

ขณะที่ นายไมเคิล บาร์ รองประธานเฟด ฝ่ายกำกับดูแล กล่าวในงานเสวนา ซึ่งจัดขึ้นโดยเฟดสาขาแอตแลนตาว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยในไตรมาส 1 ปีนี้ ไม่ได้ทำให้เขามีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า เฟดควรจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน พร้อมกับแนะนำให้เฟดใช้เวลามากขึ้น จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

“เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่า ภารกิจการต่อสู้กับเงินเฟ้อของเราประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้” นายบาร์ กล่าว

ด้านนางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟด สาขาคลีฟแลนด์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก เมื่อวานนี้ว่า การที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยในไตรมาส 1 ปีนี้ รวมทั้งเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด ทำให้เธอคิดว่า เฟดควรจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น

การแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวลงในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ (20 พ.ค.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ตลาดได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนมีความหวังว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนี CPI ที่ต่ำกว่าคาดในเดือนเม.ย. โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้ต้นทุนการกู้ยืมของกลุ่มผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

ที่มา: บลูมเบิร์ก