BF Knowledge Tips: ไขข้อสงสัย การลงทุน RMF

BF Knowledge Tips: ไขข้อสงสัย การลงทุน RMF

ลายกังวลกับเงื่อนไขปัญหา RMF

หลายครั้งที่มีผู้มาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับ RMF และเป็นเรื่องอนาคตที่เขากังวลใจ รวมถึงบางท่านก็เกิดปัญหาและไม่รู้จะไปต่ออย่างไร

ปัญหาที่อยากยกมาพูดคุยกันในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทน หรือกำไรขาดทุน หรือลงทุนอะไรดี ซึ่งแก้ไขได้ด้วยหลักการลงทุนแบบ Asset Allocation และทยอยลงทุนครับ แต่จะพูดถึงประเด็นปัญหาจากเงื่อนไขของกองทุนที่หลายท่านเข้าใจผิด หรือยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

ข้อแรก คือ ส่วนมากจะเป็นคำถามจากคนที่ลงทุนมานานแล้วครับ และจะครบเงื่อนไข แต่ไม่แน่ใจกลัวขายผิด

เรื่องแรกคือ RMF จะขายคืนได้ต้องลงทุนต่อเนื่อง ต้องลงทุนจากเงินก้อนแรกมาแล้ว อย่างน้อย 5 ปี และอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป  คนจะถามว่าพออายุ 55ปีแล้วลงมาเกิน 5 ปีแล้วขายได้เลยมั้ย สำหรับคำแนะนำในเรื่องนี้ คือ ถ้าปีนี้ก็ยังลงทุนอยู่ ต้องการลดหย่อนภาษีจาก RMF อยู่ และเพิ่งจะ 55 ปีบริบูรณ์ปีนี้  ถ้าอยากขายให้ข้ามปีปฎิทินไปก่อน ค่อยขายจะเซฟกว่า ถ้าขายปีนี้เลย เท่ากับมีซื้อและขายคืนในปีเดียวกัน ก็จะยุ่งยากเวลานับ กับข้อมูลที่แสดงสรุปรายปีในเอกสาร แต่ถ้ายังทำงานไม่เกษียณต้องการซื้อ RMF ลดหย่อนต่อในปีต่อๆ ไป ก็ยังไม่แนะนำให้ขาย เพราะถึงขายได้ก็จะมีปัญหาการนับก้อนเงินลงทุน

ที่ว่ามีปัญหาคือ เวลาเราครบเงื่อนไขถูกทุกอย่าง พอเราขายแล้ว อยากลงทุน RMF ต่อ ทีนี้จะนับใหม่ละครับ เหมือนเริ่มใหม่ ต้องนับให้ครบ 5 ปีบริบูรณ์จากเงินลงทุนก้อนแรกในรอบนี้ใหม่ถึงจะขายได้ ทีนี้ ถ้ามีทั้งก้อนเก่า ก้อนใหม่ ทีนี้จะนับยากมากและตีความได้หลากหลายแบบมาก ไม่แนะนำ โดยอยากให้ลงทุนใช้สิทธิไปจนเกษียณ เลิกทำงานก็ค่อยหยุดซื้อ และขายคืน จะขายรอบเดียวหรือทยอยขายก็ได้

อีกปัญหาตอนซื้อที่หลังๆ ที่เจอบ่อย ก็คือ คนที่ลงทุน RMF มานานแล้ว มีหน้าที่การงานดี มีรายได้ดี แต่อายุยังไม่ถึง 55 ปี ซึ่งกฎบอกว่า ต้องลงทุนต่อเนื่อง ปรากฎว่า มีการหักเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเยอะ มีซื้อประกันบำนาญไว้ด้วย แต่ละปีจ่ายเยอะ ทีนี้ 2 ก้อนนี้รวมกันเกิน 5 แสนบาท ทีนี้จะทำยังไง เพราะบอกว่า RMF ต้องลงทุนและนำไปใช้สิทธิลดหย่อนทุกปี แต่รวมกับเงินพวกนี้ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท แต่นี่ไม่ต้องรวม RMF เกิน 5 แสนบาทแล้ว

คำแนะนำ คือ ให้ซื้อ RMF ตามขั้นต่ำที่ซื้อได้ครับ ไม่ให้ผิดกฎ อย่างของ BBLAM ขั้นต่ำของการซื้อ RMF คือ 500 บาท แล้วตอนกรอกภาษีก็นำยอด 500 บาทนี้ ไปกรอกด้วย ห้ามลืม แต่ตอนกรอกก็ลดประกันบำนาญ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลง 500 บาท ให้เรายื่นลดหย่อนรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท เท่านี้ก็เรียบร้อย เพราะการลดการใช้สิทธิลดหย่อน ในประกันบำนาญหรือ PVD ทำได้ แต่ RMF ถ้าลงทุนต้องใช้สิทธิด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะโดนคิดภาษีจากกำไรตอนขาย

หรือหากปีไหนคำนวณผิด ซื้อ RMF แล้วรวมกันเกิน 5 แสนบาท ก็กรอก RMF ตามที่ซื้อไป ใช้สิทธิให้ครบ แล้วไปลดประกันบำนาญ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. แทนให้รวมไม่เกิน 5 แสนบาท ทำได้ครับ

อีกปัญหา คือ คนที่เลิกทำงานไม่มีรายได้ แต่อายุไม่ถึง 55 ปี จะต้องซื้อต่อไหม เพราะสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่มีเงินได้แล้ว เรื่องนี้ก็ถามกันมาเยอะครับ ยึดที่กฎ RMF ก่อนให้ซื้อต่อเนื่องจนอายุ 55 ปี ก็คือ ต้องซื้อ แล้วซื้อเท่าไร  ไม่เกิน 30% ของเงินได้ เอาเงินได้ที่ไหนมาคิดล่ะ ต้องเรียนว่าเงินได้มีหลายประเภทนะครับ กฎ RMF สรรพากรเขียนว่า “สูงสุด ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี”

พวกเรายังมีรายได้ครับ ดอกเบี้ยธนาคารไง จากฝากประจำ เงินปันผลจากหุ้น จากกองทุนไง เงินพวกนี้นับเป็นเงินได้ที่เราได้รับและเสียภาษีเช่นกัน แม้เงินพวกนี้จะหัก ณ ที่จ่ายแล้วและเราไม่ได้เอาไปยื่น ภงด. ก็ตามแต่มันเป็นเงินได้พึงประเมินข้อ 40(4) ได้รับในแต่ละปีด้วย และเสียภาษีด้วย แต่เราเสียแบบให้หัก ณ ที่จ่ายเฉยๆ  ดังนั้น ถ้าได้ดอกเบี้ยรับจากฝากประจำ ได้ปันผลเงิน 1,667 บาท  คิด 30% ก็ 500 บาท ซื้อ RMF ไป 500 เอาไปกรอกใน ภงด. ได้ครับ