การกระจายการลงทุน หรือการทำ Asset Allocation ได้รับการกล่าว หรือพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการลงทุนทุกวันนี้ ยากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง จากการที่เราไม่สามารถมั่นใจอะไรได้ง่ายๆ อีกต่อไป จากปัจจัยที่โลกเต็มไปด้วยความซับซ้อน ความผันผวน รวมทั้งปัจจัยที่กำหนดราคาขึ้นลงมามากมายเหลือเกิน
ดังนั้น การกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์จึงมีความจำเป็น เพราะเราควรจะต้องลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดที่มาจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่กระจุกตัวและราคา หรือทิศทางไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้บ้าง
จริงๆ Asset Allocation ไม่ใช่เรื่องใหม่และมีมาคู่กับการลงทุนตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว หลายคนก็ทำ Asset Allocation อยู่โดยที่อาจจะไม่รู้ตัว เพราะบางคนมีเงินลงทุนในหุ้น กองทุนหลากหลายประเภทกองทุนหุ้น กองทุนลดหย่อนภาษี เงินฝาก พันธบัตร สลากออมสิน ทองคำ หรือแม้แต่ลงทุนซื้อคอนโดมีเนียมไว้ให้ปล่อยเช่า ก็เป็นการกระจายการลงทุนทั้งนั้น
สาเหตุที่นักลงทุนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ Asset Allocation เพราะเราไม่ค่อยดูผลตอบแทนรวมเป็นพอร์ต เรามักเคยชินกับการลงทุนแบบเดิมๆ เช่น กองทุน ซื้อหุ้น หรือฝากธนาคาร อาจจะโฟกัสดูหุ้นเป็นตัวๆ กองทุนเป็นรายกอง กองไหนให้ผลตอบแทนดีก็ประทับใจ ยกให้เป็นลูกรัก กองไหนผลตอบแทนแย่ ก็ผิดหวัง อาจจะถัวเฉลี่ยเพิ่ม หรือรอคอยให้กลับมาเท่าทุน แล้วค่อยๆ ขาย หรือตัดใจขายไม่ได้
ทั้งที่ความจริงแล้ว เราไม่มีทางเลือกกองทุนได้ถูกต้องทุกกอง เลือกหุ้นได้ถูกทุกตัว การดูพอร์ตรวม จะใช้สรุปให้เราได้ง่ายกว่าว่า เงินลงทุนทั้งหมดจริงๆ กำไรหรือขาดทุน เพราะกองที่กำไรขาดทุนจริงๆ อาจจะลงทุนนิดเดียว ไม่ได้มีนัยสำคัญกับพอร์ตอย่างที่เรากังวลก็ได้
นอกจากนั้น การทำ Asset Allocation และดูเป็นพอร์ตนั้น ยังจะช่วยให้เราได้เห็นภาพรวมว่า ตอนนี้เราลงทุนแบบไหน กระจายดีไหม หรือกระจุกตัวมากไปหรือไม่
คำว่า กระจุกตัวนี่ อาจจะไม่ได้หมายถึงลงทุนสินทรัพย์เดียวเท่านั้น แต่หมายถึงในแต่ละสินทรัพย์ที่กระจายสัดส่วนไว้แล้ว ข้างในมีการลงทุนที่เหมาะสมหรือไม่
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งใจจัดพอร์ตให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้อย่างละครึ่ง ในส่วนหุ้นก็อาจจะมีทั้งกองหุ้น หุ้นรายตัว หรือเงินลงทุนในกิจการที่ไปร่วมหุ้นกับเพื่อน
ส่วนตราสารหนี้ ก็มีทั้งเงินฝาก กองทุนตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้ หรือสลากออมสิน แม้จะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ปัจจุบันนี้ ก็ต้องระวังมากขึ้น เพราะเราลงทุนในหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น หุ้นกู้บางตัวที่ประกาศขายก็จ่ายอัตราเงินปันผลสูง เราเลยนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเยอะ เพราะมั่นใจว่า เป็นหุ้นกู้มีสัญญาคืนเงินชัดเจน และคิดเองว่า บริษัทคงจะไม่เจ๊งหรอก!!
แต่สุดท้าย อาจจะมีอะไรที่เราไม่รู้ คาดไม่ถึง ทำให้ต้องเสียเงินส่วนนี้ไปง่ายๆ ดังนั้น การลงทุนไม่ว่าจะหุ้นหรือตราสารหนี้ ก็ต้องกระจายความเสี่ยงเช่นกัน
ส่วนกองทุนหุ้น เราอาจจะเลือกกองทุนหลายๆ กองกระจายกันไป และคิดว่าจัดสรร กระจายความเสี่ยงดีแล้ว ตรงนี้ หลังๆ ก็เจอบ่อยมากขึ้น เพราะเวลานักลงทุนเลือกจะมักเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดี มีแนวโน้มดี ซึ่งแม้จะเป็นคนละกองทุนกัน หรือนโยบายการลงทุนต่างกัน แต่กลับเป็นว่า สัดส่วนหลักๆ ลงทุนเหมือนๆ กัน เวลาหุ้นกลุ่มนี้ขึ้น ก็เลยทำให้กองเหล่านี้ให้ผลตอบแทนดีไปหมด ถ้าเราเลือกกองทุนเหล่านี้ไว้ในพอร์ตเหมือนๆ กัน เท่ากับว่า พอร์ตของเราจะไม่ได้กระจายตัวและมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา กองทุนดัชนีที่อิงตลาดหุ้นอเมริกาให้ผลตอบแทนดี กองทุนหุ้นเทคขนาดใหญ่ให้ผลตอบแทนดี กองทุนหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วให้ผลตอบแทนดี เราก็เลือกลงทุนทั้ง 3 กองเลย
ปรากฎว่า สัดส่วนที่กองทุนทั้ง 3 กองลงทุนนั้น พอไปศึกษารายละเอียด กลายเป็นว่า มีหุ้นในกลุ่มที่ซ้ำๆ กันในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งถ้าตลาดกลับด้านราคาหุ้นเทคใหญ่ๆ เหล่านี้ร่วงกองหุ้นทั้ง 3 กองก็จะร่วงเหมือนกันหมด ก็จะทำให้พอร์ตของเราร่วงตามไปด้วย แบบนี้ถือว่า ไม่ใช่การกระจายความเสี่ยง หรือจัด Asset Allocation ที่ดีเลย
อยากให้ลองให้เวลากับพอร์ตของเงินลงทุนตัวเองบ้าง ลองรวบรวมดูว่า พอร์ตปัจจุบันเป็นอย่างไร หุ้นและตราสารหนี้ ตอนนี้มีสัดส่วนเท่าไร และหุ้นกับตราสารหนี้ที่มีกระจุกตัวหรือกระจายตัวดีแล้ว เพื่อให้การลงทุนของเราเดินไปได้อย่างถูกทางและประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจได้