ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อไม่นาน แต่รู้มั้ยว่า อีกเพียง 5 ปี ไทยเราจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในเอเชียที่เข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super Aged Society) ด้วยเวลาการเปลี่ยนผ่านเพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว สาเหตุหลักมาจากอัตราการเกิดของไทยน้อยลง และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าอัตราการเกิดใหม่ ทำให้ประชากรไทยมีปริมาณลดลง และวัยแรงงานจะลดลงอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันวัยแรงงานไทยคิดเป็น 62% ของประชากรไทยทั้งหมด แต่อีกเพียง 30 ปีข้างหน้า วัยแรงงานไทยจะเหลือเพียง 50% ฟังดูแล้วเหมือนจะมีแต่ข่าวร้าย แต่ข่าวดีก็มี เพราะคนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น โดยในปี 2568 อายุเฉลี่ยของคนไทยจะอยู่ที่ 85 ปี เรียกได้ว่า แม้จะเป็นผู้สูงอายุ แต่ก็เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี อายุยืนยาวมากกว่าแต่ก่อน
เพื่อให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ แน่นอนว่า ต้องมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง มีกำลังกาย กำลังใจ รวมถึงกำลังทรัพย์ที่มากพอ เพราะหากไม่มีกำลังทรัพย์ การใช้ชีวิต ก็คงจะยากสักหน่อย และทำให้กำลังใจ กำลังกายท้อถอยลงไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้ผู้สูงอายุ (ไว) มีกำลังที่มากเพียงพอจึงต้องหันมาใส่ใจตัวเอง
ใส่ใจการลงทุน เพื่อให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยในช่วงหลังเกษียณ จึงต้องวางแผนการลงทุน โดยการลงทุนสามารถทำได้อย่างหลากหลาย ซึ่งก่อนเกษียณเราต้องคำนวณเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ โดยประมาณการใช้ชีวิตหลังเกษียณว่า เราคาดว่าจะอยู่ต่อไปกี่ปี อย่าลืมว่า อายุ 85 ปี เป็นอายุเฉลี่ย ซึ่งเราอาจจะอยู่ได้นานกว่า 85 ปี อาจจะอยู่ถึง 100 ปีเลยก็ได้ ดังนั้น การเผื่อเหลือจึงดีกว่าเผื่อขาด นอกจากนั้น ต้องประมาณการใช้จ่าย ว่าจะใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ ปีละเท่าไหร่ เงินสะสมสำหรับเป้าหมายนี้มีเพียงพอมั้ย ยังขาดอีกเท่าไหร่ เหลือเวลาให้เก็บออม ลงทุนอีกกี่ปี นี่คือ สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนเกษียณ
เมื่อถึงวันที่เกษียณแล้ว เราต้องแบ่งเงินลงทุนเป็นก้อน อย่างน้อย 5 ก้อน สำหรับลงทุนและใช้จ่ายเป็นช่วงๆ หลังจากที่เราเกษียณแล้ว โดย
เงินลงทุนก้อนแรก สำหรับการใช้จ่ายช่วงต้น (ปีที่ 1-2) ลงทุนในเงินฝากออมทรัพย์ / เงินฝากประจำ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เรียกว่า เป็นเงินพร้อมใช้ ในช่วง 1-2 ปีแรกหลังเกษียณ
เงินลงทุนก้อนที่ 2 สำหรับการใช้จ่ายช่วงต่อ (ปีที่ 3-5) ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ หากรับความเสี่ยงได้อีกสักนิดก็สามารถเลือกกองทุนรวมแบบผสมที่มีการลงทุนในหุ้นประมาณ 10% เพื่อให้เงินมีโอกาสเติบโตได้บ้าง
เงินลงทุนก้อนที่ 3 สำหรับการใช้จ่ายช่วงกลาง (ปีที่ 6-10) ลงทุนในกองทุนผสม ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นประมาณ 20% หรือเลือกลงทุนเองโดยตรง หรือแบ่งสัดส่วนการลงทุนในกองทุน เพราะการลงทุนสำหรับเป้าหมายใช้เงินช่วงกลาง เราจะไม่ใช้เงินเลยในช่วง 5 ปีแรก ดังนั้น เงินลงทุนจึงรับความเสี่ยงได้มากขึ้นมาสักหน่อย
เงินลงทุนก้อนที่ 4 สำหรับการใช้จ่ายช่วงท้าย (ปีที่ 11 เป็นต้นไป) หรือสำหรับใครที่อยากจะแบ่งเป็นช่วงสั้นๆ อีกก็สามารถทำได้ เช่น (ปีที่ 11-15) และแบ่งช่วง ปีที่ 16-20 ทุกๆ 5 ปี ซึ่งการลงทุนในช่วงท้าย สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้มากขึ้น เช่น 30% 40% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้ เพื่อให้เงินมีโอกาสเติบโตในอนาคต
เงินลงทุนก้อนที่ 5 สำหรับกรณีฉุกเฉิน เงินลงทุนก้อนนี้ ขาดไม่ได้ มีเผื่อไว้สำหรับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับเรา หรือกับคนในครอบครัวเรามั้ย จึงต้องมีเผื่อไว้ตลอดเวลา ซึ่งเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินควรมีให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในช่วง 2 ปี ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถสะสมในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ แม้ว่าโอกาสที่เงินจะเติบโตไม่มากนัก แต่ก็มีความเสี่ยงต่ำที่จะขาดทุนเงินต้น เมื่อรีบร้อนใช้เงิน
ใส่ใจสุขภาพกายและใจ เพื่อให้สามารถมีชีวิตยืนยาว อย่างมีความสุข จึงต้องใส่ใจสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริหารใจให้ผ่องแผ้ว แจ่มใสทุกวัน เพราะเราคงไม่อยากเป็นผู้สูงวัยที่นอนติดเตียง รอให้ลูกหลาน หรือสถานพยาบาลมาดูแล สำหรับใครที่ต้องการเตรียมสวัสดิการให้กับตัวเองในเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นกับการเตรียมทำประกันสุขภาพ รวมถึงประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพื่อให้มีเงินบำเหน็จหรือเงินก้อนออกมาให้ใช้ หรือใครที่ต้องการเงินอย่างสม่ำเสมอก็สามารถเลือกทำประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อให้มีเงินพร้อมใช้ไม่ขาดมือหลังเกษียณ ซึ่งเราสามารถเตรียมพร้อมได้ก่อน
เมื่อเราเตรียมตัวรับมือกับสังคมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้ว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสูงอายุ (ไว) ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ในรูปแบบสังคมสูงวัยได้ง่ายๆ เพียงแค่รู้ก่อน เตรียมตัวก่อน เข้าใจสภาพแวดล้อม ที่สำคัญคือ ลงมือทำ เพื่อให้เป้าหมายที่เราต้องการสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจ