ทุกๆ ปีมีคนเกษียณจากการทำงาน ซึ่งอาจจะมีอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี หรือแล้วแต่ อาจจะเป็นการ Early Retire ตั้งแต่อายุ 45 หรือ 50 ปี ซึ่งหลายคนที่เกษียณมักจะคิดว่าตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนอีกต่อไป หรือบางคนคิดว่าไม่ควรลงทุน เพราะอายุมากแล้ว ไม่อยากเสี่ยง แต่จะรวบรวมทรัพย์สินที่มี เพื่อประเมินว่าจะใช้จ่ายได้นานเท่าไหร่ ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะบอกว่า ทำไมเกษียณแล้วถึงไม่ลงทุน ในเมื่อมูลค่าเงินลดลงทุกปี เราต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อให้ได้ของอย่างเดิม ง่ายๆ ถ้าเงินเฟ้อ 3% ของมูลค่า 100 บาทในวันนี้ ปีหน้าจะมีราคา 103 บาท อีก 10 ปี ของ 100 บาทในวันนี้ จะต้องใช้เงินถึง134.39 บาท เท่ากับว่า ราคาแพงขึ้นเกือบ 35% หากเราไม่ลงทุนเลย หรือบอกว่าแค่ฝากเงิน เงินที่มีอยู่ ย่อมโตไม่ทันเงินเฟ้อ เท่ากับว่า มูลค่าเงินในอนาคตจะน้อยลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน รายได้ไม่มีเข้า แต่รายจ่ายมีตลอด เพิ่มเติมคือ สุขภาพเรากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย จำเป็นต้องดูแลสุขภาพมากขึ้น แล้วเราควรจะทำยังไง
วิธีแรก คือ มีรายได้หลังเกษียณต่อ ด้วยการทำสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่น การหารายได้เสริม ทำสิ่งที่เรารัก อย่างใครชอบขับรถ ชอบหาหนทางใหม่ๆ การขับ Taxi ก็ช่วยให้เราได้ทำอย่างที่รัก มีรายได้ แถมยังมีเพื่อนใหม่นั่งคุยด้วย ส่วนใครที่ชอบปลูกผัก ปลูกพริก นอกจากจะมีพืชผักปลอดสารพิษไว้กินเอง ดีต่อสุขภาพแล้ว ดีไม่ดี ยังสามารถต่อยอดจำหน่ายให้กับเพื่อนฝูงได้ด้วย หรือการแจกจ่ายผัก แจกจ่ายพืชต่างๆ สิ่งที่ได้กลับมาอาจเป็นแกงอร่อยๆ จากเพื่อนบ้านเราก็ได้
อีกหนึ่งวิธี สำหรับใครที่อยากเป็นอิสระ นั่นก็คือ การนำเงินเก็บ เงินออม ที่สะสมในระหว่างการทำงาน มาต่อยอดด้วยการลงทุน เพราะอย่างน้อย เงินที่สะสมไว้ไม่ควรจะมีค่าน้อยลง และยิ่งเราคาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีกหลายสิบปี ยิ่งต้องลงทุน เพราะอาจมีบางเรื่องที่สำคัญ แต่เราลืมนึกถึง อย่างเรื่องเจ็บป่วย เรามีเงินสำรองสำหรับเรื่องนี้ด้วยมั้ย เงินที่เรากันไว้ใช้เงินเดือนละ 30,000 จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้นหรือเปล่า หากเจ็บป่วยเราจะทำอย่างไร จะใช้สิทธิอะไร และเงิน 30,000 บาทในวันนี้ แต่อีก 10 ปีข้างหน้า เราต้องใช้ถึงเดือนละ 40,317.49 บาท เพื่อให้มูลค่าเงินเท่ากับเงินวันนี้ที่ 30,000 บาท
ดังนั้น หากเงินเก็บของเราโตไม่ทันเงินเฟ้อ ในอนาคตเราอาจต้องใช้จ่ายน้อยลง เพื่อยืดระยะการใช้เงินออกไป หรือหากลดการใช้จ่ายลงไม่ได้ เพราะนับวันของยิ่งแพงขึ้นๆ เท่ากับว่า เงินที่เราเตรียมไว้ใช้ใน
อนาคต อาจจะเตรียมเอาไว้ใช้อีก 20 ปี แท้ที่จริงแล้ว ใช้เพียงแค่ 10 กว่าปีเงินที่สะสมไว้ก็อาจจะหมดลงแล้วก็ได้ ดังนั้น การลงทุนหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะลงทุนกันยังไง แนะนำ 2 วิธีแบบนี้ค่ะ
วิธีแรก เหมาะกับใครที่ชอบกำหนดเป้าหมาย อย่างเช่น เงินก้อนสำหรับสุขภาพ เงินก้อนสำหรับท่องเที่ยว เงินก้อนสำหรับการใช้จ่ายประจำวัน เงินก้อนสำหรับค่าใช้จ่ายสังคม และต้องไม่ลืมเงินก้อนสำหรับเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งเงินแต่ละก้อน มีเป้าหมายที่ต่างกัน การจะนำไปลงทุนเพื่อให้เงินไม่ลดค่า ต้องต่างกันด้วย อย่างเช่น เงินก้อนสำหรับเผื่อฉุกเฉิน เราไม่รู้หรอกว่าต้องใช้เมื่อไหร่ แต่ถ้าต้องการต้องพร้อมใช้ทันที ดังนั้น เงินก้อนนี้ ไม่ควรนำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เพราะตอนที่เราลงทุน 100 บาท แต่ฉุกเฉินตอนจะใช้ มันอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 120-130 บาท นั่นคือ จังหวะดี โชคดี แต่อาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ได้ อาจจะเหลือแค่ 70-80 บาท แบบนี้ก็ไม่เหมาะ ควรลงทุนและเงินยังคงอยู่เพียงพอกับ 100 บาท ที่เราต้องการใช้ ดังนั้นเราควรลงทุนในกองทุน มันนี่มาร์เก็ต หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หรืออาจจะเป็นเงินฝาก E-Saving ที่ดอกเบี้ยสูงหน่อย และพร้อมถอนได้ทันที
ส่วนเงินก้อนสำหรับใช้จ่ายประจำวันนั้น เราสามารถกันส่วนหนึ่งสำหรับการใช้จ่าย อาจจะ 1-2 ปี และส่วนที่เหลือก็นำไปลงทุนโดยเงินก้อนใหญ่ประมาณ 70% ของเงินก้อนนี้ นำไปลงทุนในตราสารหนี้ ส่วนที่เหลือก็ลงทุนในหุ้น ไม่ว่าจะเป็น หุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศ เพื่อให้สู้กับเงินเฟ้อได้ เป็นต้น
แต่ถ้าใครไม่รู้ว่าจะต้องแบ่งเงินออกเป็นกี่ก้อน เพราะเป้าหมายใช้เงินมีมากมายเหลือเกิน เราก็ใช้วิธีที่สองคือ แบ่งเป็นระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินก็ได้ อย่างเช่น เป้าหมายการใช้เงินในแต่ละช่วงชีวิต เช่น ช่วง 5 ปีแรก ช่วง 10 ปีแรก ช่วง 10 ปีที่สอง ช่วง 10 ปีที่ 3 ซึ่งการกันเงินเป็นช่วงของชีวิต จะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดว่า เราใช้เงินได้ตามแผนในแต่ละช่วงมั้ย และทำให้เรารู้ว่า เราจะใช้เงินก้อนนี้ในช่วงไหน ทำให้เงินก้อนที่อยู่อีกไกลยังไม่ได้ใช้ สามารถนำมาลงทุนได้ โดยอาจแบ่งเป็นการลงทุนในกองทุนผสม ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 25% ในช่วง 10 ปีแรก ช่วง 10 ปีที่สองก็ยังคงผสมผสานการลงทุน อาจเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกสักนิด เช่น ลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30% และช่วง 10 ปีที่สาม เพิ่มการลงทุนในหุ้นเป็นไม่เกิน 50-55% เป็นต้น เพื่อให้เงินที่ต้องการใช้ในช่วงท้ายๆ ได้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนไม่ให้แพ้เงินเฟ้อ
นอกจากเรื่องเงินที่ต้องดูแลให้ดีแล้ว เรื่องสุขภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากกลัวร่างกายบาดเจ็บ แค่เพียงเดินวันละ 30-40 นาที เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว ลำไส้ได้ขยับ ก็ทำให้สุขภาพดีขึ้นแล้ว