รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาแผนการอนุญาตให้เจ้าของบ้านรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยมูลค่าสูงสุด 5.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมและกระตุ้นการบริโภคของประชากรในประเทศ
แผนดังกล่าวจะอนุญาตให้เจ้าของบ้านสามารถเจรจาเงื่อนไขใหม่กับผู้ให้กู้รายปัจจุบันก่อนที่จะมีการปรับราคาสินเชื่อที่อยู่อาศัยในเดือนมกราคม โดยยังอนุญาตให้เจ้าของบ้านสามารถรีไฟแนนซ์สินเชื่อกับธนาคารรายอื่นได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันเพื่อลดต้นทุนการจำนองหลังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกลางเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารต่างๆ ตอบสนองมาตรการดังกล่าวด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากการซื้อบ้านหลังแรกที่ยังค้างชำระ อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่ชัดเจนว่าแผนการเหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบ้านทุกหลังได้หรือไม่
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของจีนทวีความรุนแรงขึ้น จากรายงานผลประกอบการที่น่าผิดหวังของหลายบริษัท รวมถึงการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโดย UBS Group AG
การปรับลดดังกล่าวสะท้อนถึงฉันทามติที่เกิดขึ้นใหม่ในหมู่ธนาคารทั่วโลกว่า ประเทศจีนอาจพลาดเป้าการเติบโตที่ระดับ 5% ในปี 2567 โดยจีนประสบกับความล้มเหลวในลักษณะดังกล่าวเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกะทันหัน
แผนการรีไฟแนนซ์ฉบับใหม่มุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่มีบ้านอยู่แล้ว แต่ถูกละเลยสิทธิบางส่วน หลังผู้ซื้อบ้านรายใหม่ได้รับประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยหลักลง โดยหากได้รับการอนุมัติ ก็อาจช่วยบรรเทาภาระสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประชาชนในประเทศได้เร็วกว่าที่คาด
แม้ว่าในปีนี้ รัฐบาลจะผลักดันต้นทุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉลี่ย ให้อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้วก็ตาม แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากธนาคารจะยังไม่ปรับราคาสินเชื่อที่มีอยู่จนกว่าจะถึงปีถัดไป
มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ของรัฐบาลจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยเหลือผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์รายใหม่เป็นหลัก โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ 5 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยระยะยาว ถูกปรับลดลงเหลือ 3.85% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ UBS ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีการผ่อนปรนหลากหลายนโยบาย เพื่อฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่การบังคับใช้มาตรการต่างๆ ก็ยังคงมีความล่าช้าและให้ผลลัพธ์ที่จำกัด ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยจะส่งผลถึงการบริโภคในครัวเรือนด้วย
จีนต้องประสบกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์มาเป็นระยะเวลาสี่ปีแล้ว โดยส่งผลให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ตลาดแรงงานไปจนถึงการบริโภคและความมั่งคั่งของครัวเรือนชะงักงัน ทั้งนี้ แม้ว่ายอดขายปลีกของประเทศในเดือนกรกฎาคมจะออกมาดีเกินคาด แต่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยตามฤดูกาล ขณะที่สถิติดังกล่าวยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ที่มา: รอยเตอร์