ธนาคารโลกเตือนว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงชะลอตัวต่อไป จากที่คาดว่าจะโต 4.8% ในปี 2024 จะชะลอลงเหลือโต 4.4% ในปี 2025 และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียชะลอลงตามไปด้วย
วันที่ 8 ตุลาคม 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอีกในปี 2025 สร้างความตึงเครียดให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากขึ้น แม้ว่าจะได้แรงกระตุ้นชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้
จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจรายครึ่งปีของธนาคารโลก ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2024 ไว้ที่ 4.8% และคาดการณ์ว่าจะชะลอลงเหลือโต 4.3% ในปี 2025 ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกชะลอตัวลงตามไปด้วย จากประมาณการว่าจะโต 4.8% ในปี 2024 เหลือโต 4.4% ในปี 2025
ธนาคารโลก ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลประโยชน์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ แต่ขนาดของแรงหนุนกำลังลดลงไป แม้ว่ามาตรการสนับสนุนทางการคลังที่ส่งสัญญาณออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ อาจยกระดับการเติบโตได้ในระยะสั้น แต่การที่จะเติบโตในระยะยาวจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างลึกซึ้ง
รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อมกว่าเดิม เนื่องด้วยการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ซบเซาในเดือนสิงหาคม อีกทั้งตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังแย่ ในปลายเดือนกันยายน รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากที่สร้างความคึกคักในตลาด โดยเน้นไปที่นโยบายทางการเงิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย
ขณะนี้ มีความคาดหวังมากขึ้นว่า รัฐบาลจะออกนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น และกระตุ้นการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ
ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตของจีนสอดคล้องกับแบบสำรวจที่บลูมเบิร์กเคยจัดทำไว้ แต่คาดการณ์การเติบโตในปี 2025 ของธนาคารโลกต่ำกว่าค่ากลางในการคาดการณ์ของบลูมเบิร์กที่ 4.5% เล็กน้อย
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังกล่าวอีกด้วยว่า ไม่เพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง แต่กระแสการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนไป และนโยบายที่ไม่แน่นอนทั่วโลก อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้เช่นกัน
แม้ว่าการค้าอันตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ได้สร้างโอกาสให้ประเทศอย่างเวียดนามได้มีบทบาทในการเชื่อมโยงกับคู่ค้ารายใหญ่ แต่ก็มีหลักฐานชิ้นใหม่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจอาจถูกจำกัดให้เล่นบทบาท ‘ผู้เชื่อมโยงทางเดียว’ (One-Way Connector) มากขึ้น เนื่องจากมีกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules-of-Origin) ในการนำเข้าและส่งออกที่เข้มงวดมากขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารโลกยังได้ตรวจสอบการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ผลกระทบของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่อตลาดแรงงานทั่วทวีปเอเชีย
เนื่องจากเอเชียเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยงานแบบทำมือ (Manual Task) ดังนั้น สัดส่วนของงานที่จะถูก AI คุกคามจึงมากกว่าในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และยังหมายความว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภาพของ AI ได้น้อยกว่าด้วย
ที่มา: บลูมเบิร์ก