ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียใต้เป็น 6.4% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 6.0% โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งภายในประเทศอินเดียและการฟื้นตัวที่รวดเร็วขึ้นในประเทศที่ประสบกับภาวะวิกฤติ เช่น ศรีลังกาและปากีสถาน
ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2568 ขึ้นเป็น 7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย.ที่ 6.6% ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของผลผลิตการเกษตร และการบริโภคของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น
มาร์ติน ไรเซอร์ รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “คุณมีกลุ่มผู้บริโภคใหม่ในอินเดียซึ่งกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คุณมีการฟื้นตัวจากวิกฤติในศรีลังกาและปากีสถาน นอกจากนี้ คุณยังมีการฟื้นตัวที่นำโดยการท่องเที่ยวในเนปาลและภูฏาน”
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การปรับเพิ่มคาดการณ์นี้ยืนยันว่า เอเชียใต้เป็นภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุด โดยธนาคารโลกยังคาดการณ์ด้วยว่า เอเชียใต้จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 6.2% ต่อปีในอีก 2 ปีถัดไป
ไรเซอร์ กล่าวว่า “จะมีศักยภาพในการเติบโตที่มากขึ้น” หากประเทศในเอเชียใต้หลอมรวมเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องยึดมั่นในโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนดังกล่าว
เมื่อวันพุธ (9 ต.ค.) ธนาคารกลางอินเดียยังคงคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไว้ที่ 7.2% สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน และได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนไปสู่นโยบายการเงินที่เป็นกลาง
ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของปากีสถานจะขยายตัว 2.8% ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 2.3% โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย
สำหรับศรีลังกา ซึ่งกำลังพยายามฟื้นตัวจากการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศและวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีนั้น ได้รับการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างมาก โดยคาดว่าจะขยายตัว 4.4% ในปีนี้ และ 3.5% ในปีหน้า
ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจเนปาลได้ถูกปรับขึ้นเป็น 5.1% จาก 4.6% สำหรับปีงบประมาณ 2567/2568 ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางเดือนก.ค. และการเติบโตของเศรษฐกิจภูฏานได้ถูกปรับขึ้นเป็น 7.2% จาก 5.7%
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจบังกลาเทศถูกปรับลดลงเหลือ 4.0% จาก 5.7% สำหรับปีงบประมาณ 2567/2568 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกเสื้อผ้า และความไม่สงบทางสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
ที่มา: รอยเตอร์