กฤษณะ ศรีนิวาสาน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นด้านการคลังที่รัฐบาลจีนประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความเสี่ยงด้านเงินฝืดที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ศรีนิวาสาน กล่าวว่า แม้นโยบายที่จีนประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ จะเป็นปัจจัยหนุนให้ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.8% ในปีนี้ แต่รัฐบาลจีนจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาการทรุดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และลดแรงกดดันด้านเงินฝืด
“เราเชื่อว่ามาตรการที่จีนประกาศไปแล้วนั้นยังไม่มากพอ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอมาก” ศรีนิวาสานกล่าวกับผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) พร้อมเสริมว่า อันดับแรก จีน “ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า บ้านพรีเซลจะสร้างเสร็จ และสอง ปัญหาเรื่องบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้กับบริษัทที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้นั้น ต้องได้รับการแก้ไข”
ทั้งนี้ ศรีนิวาสาน กล่าวว่า จีนควรจะทุ่มงบประมาณในอัตราส่วน 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดที่อยู่อาศัยซึ่งกำลังทรุดตัวลง ขณะที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า งบประมาณในอัตราส่วนดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 6.3 ล้านล้านหยวน (8.85 แสนล้านดอลลาร์) โดยอ้างอิงจากตัวเลขของปีที่แล้ว
นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างรอคอยให้รัฐบาลจีนประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่หลัน ฝออัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจีนได้ให้คำมั่นในช่วงต้นเดือนนี้ว่า จะอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนใช้พันธบัตรพิเศษ (special bonds) ในการซื้อบ้านค้างสต็อก
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนส่งผลให้ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนจีนหายไปประมาณ 18 ล้านล้านหยวน และทำให้จีนเผชิญกับภาวะเงินฝืดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542
ที่มา: บลูมเบิร์ก