ECB เตือนยุโรปอาจพ่ายยับในศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน มองแนวโน้มยังลดดอกเบี้ยได้

ECB เตือนยุโรปอาจพ่ายยับในศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน มองแนวโน้มยังลดดอกเบี้ยได้

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นายปิเอโร ชิโปลโลเน (Piero Cipollone) สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังมีพื้นที่ให้ปรับลดลงอีก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว พร้อมเตือนว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มยูโรโซน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 20 ประเทศ

นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว ECB ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 5 ครั้ง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เริ่มมีน้ำหนักมากกว่าความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ขณะที่ นักลงทุนคาดการณ์ว่า จะเกิดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อยอีก 3 ครั้งในปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงไม่กลับมาฟื้นตัว หลังจากซบเซามานานเกือบ 2 ปี

นายปิเอโร ชิโปลโลเน ระบุว่า “ทุกคนเห็นตรงกันว่า ยังมีโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก และใกล้จะไปถึงเป้าหมาย แต่เรายังอยู่ในช่วงของการใช้นโยบายที่เข้มงวด” อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก กำลังกดดันให้ ECB ต้องพิจารณาในหลายทิศทาง ดังนั้น ในขณะนี้ จึงยังไม่มีเหตุผลที่จะให้คำมั่นถึงการดำเนินการใดๆ รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในเดือนมี.ค.นี้

ถึงกระนั้น เศรษฐกิจของยูโรโซนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยในขณะนั้น ECB คาดการณ์ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2025 ซึ่งรวมถึงการปรับลดที่ได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนม.ค. นายชิโปลโลเน ระบุว่า “แนวทางโดยรวมของเรายังคงชัดเจน พื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ตนจึงคิดว่าทิศทางของนโยบายจะไม่เปลี่ยนไปมากนัก โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่กำลังกลับสู่เป้าหมาย”

แม้อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ในเดือนที่แล้ว แต่ ECB คาดว่า จะปรับลดลงมาสู่ระดับ 2% ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ หลังจากที่อยู่เหนือระดับเป้าหมายมานานถึง 4 ปี

ขณะเดียวกัน นายชิโปลโลเน ระบุว่าปัจจัยที่ไม่แน่นอนที่สุด คือ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยุโรปอย่างมาก แม้ว่า สหภาพยุโรปจะยังไม่เผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงก็ตาม “สิ่งที่ผมกังวลมากกว่า คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงกว่า เนื่องจากจีนมีศักยภาพด้านการผลิตถึง 35% ของทั้งโลก” โดยสหรัฐฯ เพิ่งกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10% ในสัปดาห์นี้ ทำให้จีนออกมาตรการตอบโต้ “หากจีนถูกจำกัดการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ จะทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่ และอาจทุ่มขายสินค้าราคาถูกในยุโรป ซึ่งจะกดดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและราคาสินค้าในยุโรปลดลง”

ทั้งนี้ นายชิโปลโลเน ยังชี้ว่า ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง อุปสงค์ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มฟื้นตัว การก่อสร้างยังคงขยายตัว การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเริ่มส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ และแม้แต่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตกอยู่ในภาวะถดถอยมา 2 ปี ก็เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน “แม้เศรษฐกิจอาจจะไม่เฟื่องฟู แต่คิดว่า จะไม่เกิดภาวะถดถอย”

ที่มา: รอยเตอร์