มูดี้ส์ เตือนอันดับเครดิตเวิลด์แบงก์เสี่ยงถูกกระทบ หากทรัมป์ตัดการสนับสนุน

มูดี้ส์ เตือนอันดับเครดิตเวิลด์แบงก์เสี่ยงถูกกระทบ หากทรัมป์ตัดการสนับสนุน

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า มูดี้ส์ (Moody’s) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่ของโลก กล่าวเตือนว่า อันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ และสถาบันการเงินพหุภาคีชั้นนำอื่นๆ ในระดับ AAA อาจได้รับผลกระทบ หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ตัดสินใจลดการสนับสนุนลง แม้จะระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ก็ตาม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร (Executive order) เพื่อตรวจสอบการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อองค์กรระหว่างรัฐบาลระหว่างประเทศทั้งหมดที่ตนเป็นสมาชิก และถอนตัวจากหน่วยงานบางแห่งขององค์กรสหประชาชาติ (UN)

มูดี้ส์ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “สหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นหลักในหลายธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างหลายประเทศ (MDB) ที่ได้รับการจัดอันดับ ดังนั้น หากสหรัฐฯ ลดการสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญ นั่นจะเป็นปัจจัยลบต่อความน่าเชื่อถือทางเครดิต” โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มธนาคารโลก ซึ่งมีสัดส่วนการถือครองหุ้น 16.4% ในธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (IBRD) ซึ่งเป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม และถือหุ้น 19% ในสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) ที่ให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

ทั้งนี้ ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานของมูดี้ส์

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังถือหุ้นสูงถึง 30% ในธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งอเมริกา (Inter-American Development Bank) ในภูมิภาคละตินอเมริกา, 15.6% ในธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) และอีก 10% ในธนาคารเพื่อการบูรณะและการพัฒนาแห่งยุโรป (European Bank for Reconstruction and Development) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นหลังสงครามเย็น

ทั้งนี้ การทบทวนการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อธนาคารเพื่อการพัฒนา ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน

มูดี้ส์ ระบุว่า โครงสร้างของสถาบันเหล่านี้ส่วนใหญ่เปิดช่องให้ผู้ถือหุ้นสามารถ “ถอนตัวออกได้อย่างเป็นระบบ แต่เป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะดำเนินการที่รุนแรงเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมใน MDB หลัก” ด้วยหลายเหตุผล รวมถึงการสูญเสียอิทธิพลต่อนโยบายการให้กู้ของสถาบันเหล่านี้

ทั้งนี้ ในกรณีของธนาคารโลก สหรัฐฯ ได้ออกเงินทุนประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน IBRD และมีข้อผูกมัดด้านเงินทุนที่เรียกคืนได้ก่อนกำหนด (callable capital) จำนวน 4.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเงินกู้และหลักประกันของ IBRD ที่จ่ายออกไปและยังค้างชำระอยู่ประมาณ 2.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: รอยเตอร์