IMF คาดแผนภาษีทรัมป์ยังไม่ทำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย แต่เตือนกระทบหนักแคนาดา-เม็กซิโก

IMF คาดแผนภาษีทรัมป์ยังไม่ทำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย แต่เตือนกระทบหนักแคนาดา-เม็กซิโก

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า จูลี โคแซ็ก (Julie Kozack) โฆษกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า องค์กรกำลังประเมินผลกระทบจากแผนภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% อย่างไรก็ดี IMF ไม่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดภาวะถดถอยในคาดการณ์เศรษฐกิจพื้นฐาน

โคแซ็ก ระบุว่า มาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก หากมีผลบังคับใช้ถาวร จะส่ง “ผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญ” ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบัน IMF กำลังประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีอื่นๆ ของทรัมป์ต่อภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ IMF จะรวบรวมการประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีในหลายประเด็นไว้ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนเม.ย. โดยซึ่งโคแซ็ก ระบุว่า รายงานฉบับนี้จะชี้แจงรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า มาตรการใดบ้างที่จะนำมาคำนวณในการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ ขณะที่ บางมาตรการภาษีของทรัมป์ อาจล่าช้าออกไป เช่น ภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ ที่อาจมีผลบังคับใช้ไม่เกินวันที่ 3 พ.ค.นี้

โฆษก IMF ยังกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตเกินคาดในช่วง IMF ปรับทวนตัวเลขในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งอย่างโดดเด่น ตลอดช่วงวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินที่สิ้นสุดไปเมื่อปีที่แล้ว โดยก่อนหน้าที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เพียง 3 วัน IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2025 จาก 2.2% เป็น 2.7% โดยอิงจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและการลงทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

“อย่างที่เห็นชัดเจนว่า หลังจากนั้น มีความเคลื่อนไหวหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายขนาดใหญ่ที่ประกาศออกมา และข้อมูลที่ได้รับในขณะนี้ บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวลงจากอัตราที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2024 แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคาดการณ์พื้นฐานของเรา”

ทั้งนี้ โคแซ็กไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากมาตรการภาษีของทรัมป์โดยตรง แต่กล่าวว่า IMF สังเกตเห็นว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อในปัจจุบันมีความยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อการคาดการณ์การเติบโตและเงินเฟ้อในรายงาน WEO


ที่มา: รอยเตอร์