มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า ส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยจากการคำนวณของบลูมเบิร์ก พบว่า จีนขาดดุลงบประมาณในช่วงม.ค.- เม.ย. อยู่ที่ 2.65 ล้านล้านหยวน (367,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ตัวเลขที่ออกมาสะท้อนชัดถึงผลจากการที่จีนเร่งใช้มาตรการกระตุ้นการคลังของปีนี้ เพื่อดูดซับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะจากการขึ้นภาษีสินค้าจีน ที่สหรัฐฯ เคยประกาศไว้สูงถึง 145% ในเดือนเม.ย. ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะสงบศึกและเลื่อนการบังคับใช้ภาษีออกไป 90 วัน จนถึงเดือนก.ค.
แม้ว่ารายจ่ายของรัฐบาลจะพุ่งขึ้น แต่รายได้ยังถือว่า มีเสถียรภาพ โดยรายได้รวมจากงบประมาณทั่วไปและงบประมาณกองทุนรัฐบาลของจีนในช่วง 4 เดือนแรก อยู่ที่ 9.32 ล้านล้านหยวน ลดลงเพียง 1.3% จากปีก่อน ซึ่งฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ทรุดหนักในไตรมาสแรก
ขณะที่ รายได้จากการเก็บภาษีในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบรายปี หลังจากลดลง 2.2% ในเดือนมี.ค. โดย Goldman Sachs ระบุว่า มาจากการจัดเก็บรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เพิ่มขึ้น
ส่วนรายจ่ายทั้งหมดของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 7.2% แตะที่ 11.97 ล้านล้านหยวน โดยครอบคลุมรายจ่ายทั้งฝั่งงบประมาณทั่วไป (รายจ่ายประจำวันส่วนใหญ่) และฝั่งงบประมาณกองทุนรัฐบาล (เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่)
เมื่อแยกรายจ่ายฝั่งงบประมาณทั่วไป พบว่า รายจ่ายจากดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน รองลงมาคือ รายจ่ายสวัสดิการสังคม การจ้างงาน และการศึกษา
ขณะที่รายจ่ายในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนงบจากการออกพันธบัตรรัฐบาลนั้น เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากช่วงไตรมาสแรก โดยในช่วง 4 เดือนแรก รายจ่ายฝั่งรัฐบาลกลาง เพิ่มขึ้นถึง 75% เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 16.6% ในฝั่งรัฐบาลท้องถิ่น
ส่วนแนวโน้มหลังจากนี้ คาดว่า ความจำเป็นที่จีนจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมมีแนวโน้มลดลง หลัง บรรลุข้อตกลงชั่วคราวในการลดภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ
ที่มา Bloomberg, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย