ผลสำรวจเฟดชี้ ผู้บริโภคมองแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคต จ่อคืนสู่ระดับใกล้เคียงต้นปีนี้

ผลสำรวจเฟดชี้ ผู้บริโภคมองแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคต จ่อคืนสู่ระดับใกล้เคียงต้นปีนี้

ผลสำรวจล่าสุดเดือนมิ.ย. โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในอนาคต มีแนวโน้มกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นปี 2024 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะประกาศมาตรการรีดภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ผลสำรวจเดือนมิ.ย. แสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยคาดการณ์ของผู้บริโภคต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในอีก 1 ปีข้างหน้า ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนมิ.ย. มาอยู่ที่ 3% ขณะที่ ประมาณการเงินเฟ้อรายปีในอีก 3 และ 5 ปีข้างหน้า ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 3% และ 2.6% ตามลำดับ โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแรงกดดันด้านราคาในอนาคต ปรับตัวลดลงสำหรับระยะเวลา 1 ปี และ 3 ปี

อย่างไรก็ดี ภาคครัวเรือนยังคงส่งสัญญาณที่ไม่ชัดเจนกันเกี่ยวกับตลาดแรงงาน โดยหลายครัวเรือนเตรียมพร้อมรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในการหางานใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทในสหรัฐฯ ไม่ได้จ้างงานหรือเลิกจ้างมากนัก โดย

ธุรกิจและครัวเรือน ต่างเตรียมรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีที่สูงขึ้นในเดือนเม.ย. ซึ่งสร้างความกังวลใจ ให้กับคณะกำหนดนโยบายทางการเงินของเฟด เกี่ยวกับเงินเฟ้อในอนาคต แม้ว่าผลสำรวจของเฟดสาขานิวยอร์ก จะแสดงให้เห็นว่าความคาดหวังเงินเฟ้อในอีก 3 และ 5 ปีข้างหน้า ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่แนวโน้ม 1 ปีข้างหน้าได้พุ่งขึ้นจาก 3% ในเดือนม.ค. เป็น 3.6% ในเดือนเม.ย.

การเลื่อนเส้นตายและการเจรจาข้อตกลงหลายครั้ง ทำให้ระดับภาษีศุลกากรใหม่ที่มีผลบังคับใช้ปรับตัวลดลง และชะลอผลกระทบต่อทั้งการจ้างงานและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า เตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากชาติคู่ค้าหลักหลายราย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มความไม่แน่นอนว่าระดับภาษีจะสิ้นสุดที่ระดับใด

ขณะที่ มุมมองตลาดแรงงาน ผู้ตอบแบบสำรวจ มีมุมมองทั้งแง่ดีและลบ โดยมองว่า โอกาสที่จะตกงานในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว  แต่ความเป็นไปได้ในการหางานใหม่ หากตำแหน่งปัจจุบันถูกยกเลิก ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน และเมื่อความกังวลเกี่ยวกับการเลิกจ้างลดลง ผู้บริโภคดูเหมือนจะมองโลกในแง่ดีเล็กน้อยเกี่ยวกับการเงินของตนเอง โดยสัดส่วนของครัวเรือนที่กล่าวว่า การเงินของพวกเขาจะแย่ลงในอีก 1 ปีข้างหน้า ลดลงในเดือนมิ.ย. และตอนนี้มีจำนวนมากขึ้นที่คาดว่า จะปรับปรุงให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ รายงานแยกต่างหากโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของยอดคงเหลือบัตรเครดิตที่ค้างชำระเกิน 30 วัน ลดลงในไตรมาสแรกของปี และสัดส่วนของผู้บริโภคที่ชำระหนี้บัตรขั้นต่ำก็ลดลงเช่นกัน

ที่มา Bloomberg, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย