กองทุนบัวหลวง มองการลงทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันมีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจ ทั้งแนะนักลงทุนกระจายความเสี่ยงการลงทุนเพิ่มเติม นอกเหนือจากกองทุนหุ้นและตราสารหนี้
นายวศิน วัฒนวรกิจกุล Managing Director, Head of Business Distribution บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investments) เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากกระแสตอบรับของนักลงทุนที่เลือกลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Real Estate & Infrastructure Investment ของกองทุนบัวหลวง โดยการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) นับเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เหมาะกับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในระยะยาว เพราะมีศักยภาพในการเติบโต มีความมั่นคงของรายได้สุทธิ ตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอและมีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจ ภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่สูงเกินไป
“ในการลงทุนนั้น นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สินทรัพย์แต่ละประเภทได้ทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ลงทุนได้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ การลงทุนในหุ้นสามารถคาดหวังผลตอบแทนที่เติบโตดี แต่โอกาสก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงตามไปด้วย ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ความเสี่ยงต่ำกว่า ซึ่งแน่นอนผลตอบแทนอาจจะไม่สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการทางเลือกในการลงทุนที่อยู่กึ่งกลาง คือ โอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันมีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจ เรามองว่า การเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสม” นายวศิน กล่าว
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่มธุรกิจ Real Estate & Infrastructure Investment ของกองทุนบัวหลวง ครอบคลุมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองแรกของไทย ถัดมา คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) รวมทั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) ในปัจจุบันทั้ง 3 กองทุนนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารงานของกลุ่มธุรกิจนี้ รวมทั้งสิ้น 129,300 ล้านบาท แบ่งเป็น BTSGIF ประมาณ 66,600 ล้านบาท JASIF 59,000 ล้านบาท และ BRRGIF 3,700 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561)
อีกทั้ง ยังมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งได้แก่ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์ค (FUTUREPF) ซึ่งลงทุนในสิทธิการเช่าอาคารโครงการศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต โดยปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 6,800 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561)
นอกจากนี้ กองทุนบัวหลวงยังเป็นผู้จัดการทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK) ซึ่งนับเป็นกองทรัสต์ประเภท Office REIT แบบอิสระกองแรก ที่เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเดือนก.พ. 2561 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 4,608 ล้านบาท ด้วยคุณลักษณะเด่นของ REIT ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือกที่เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป เป็นช่องทางที่เอื้อให้ทรัพย์สินเติบโตและช่วยสร้างสมดุลให้พอร์ตของนักลงทุน ในอีกด้านหนึ่งก็เปรียบเสมือนเครื่องมือระดมทุนรูปแบบใหม่สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ซึ่งแตกต่างและมีความยืดหยุ่นมากกว่า การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาฯ จึงทำให้ B-WORK ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งผู้ระดมทุนและนักลงทุน
ประกอบกับ ในกลุ่มธุรกิจนี้ เรายังให้บริการเป็นผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ในกองทรัสต์ (REIT Trustee) ให้กับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TREIT) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ โฮสพีทาลิตี้ (GAHREIT)
กองทุนบัวหลวงยังคงมุ่งมั่นบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ขณะเดียวกัน ยังคงเดินหน้ามองหาช่องทางการขยายสินทรัพย์ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และกอง REIT ควบคู่กับการมองหาผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่หลากหลาย เพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมากยิ่งขึ้น
“ตามหลักการเลือกลงทุนแล้ว ทุกคนอยากให้เงินลงทุนเติบโต ซึ่งแต่ละคนมีวัตถุประสงค์การลงทุนที่แตกต่างกัน ยอมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น การวางแผนการลงทุนจึงต้องแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ควรมีเหมือนกัน คือ การรู้จักกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายรูปแบบ และนั่นเป็นหน้าที่ของเราที่จะแสวงหารูปแบบการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น” นายวศิน กล่าว
กองทุนบัวหลวงในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จะทำหน้าที่บริหารการลงทุนด้วยความเป็นกลาง โปร่งใส ถ่วงดุล และอิสระในการคัดเลือกลงทุนในทรัพย์สิน ตามวิสัยทัศน์ของบริษัท คือ “เป็นสถาบันกองทุนที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนให้บริหารเงินลงทุน ด้วยความยึดมั่นในผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ” ซึ่งสิ่งที่กองทุนบัวหลวงยึดมั่นสะท้อนให้เห็นผ่านผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจนี้ที่มีการเงินจ่ายปันผลมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด กองทุนบัวหลวง ประกาศจ่ายเงินปันผลกองทุน ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน ประกอบด้วย
- B-WORK มีมติจ่ายประโยชน์ตอบแทนครั้งที่ 1 จากผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 6 ก.พ. – 30 มิ.ย. 2561 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.3034 บาท โดยปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับประโยชน์ตอบแทน วันที่ 23 ส.ค. 2561 และกำหนดจ่ายประโยชน์ตอบแทนในวันที่ 6 ก.ย. 2561
- BRRGIF มีมติจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 2 จากผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 2561 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.34 บาท โดยปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับปันผล วันที่ 24 ส.ค. 2561 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 7 ก.ย. 2561
- BTSGIF มีมติจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 21 จากผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2561 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.196 บาท โดยปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับปันผล วันที่ 28 ส.ค. 2561 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 11 ก.ย. 2561
- JASIF มีมติจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 14 จากผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2561 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.23 บาท โดยปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับปันผล วันที่ 28 ส.ค. 2561 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 11 ก.ย. 2561
- FUTUREPF มีมติจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 47 จากกำไรสะสมและผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2561 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.347 บาท โดยปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับปันผล วันที่ 28 ส.ค. 2561 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 11 ก.ย. 2561
นายวศิน กล่าวทิ้งท้ายว่า กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญเรื่องการมีผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจสำคัญของเรา คือ “ทำให้ครอบครัวไทยมีความมั่นคงทางการเงิน” ที่ดำเนินมาตลอด นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุนผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคตการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน