กองทุน RMF ประเภทหุ้นและกองทุนผสมของกองทุนบัวหลวง

กองทุน RMF ประเภทหุ้นและกองทุนผสมของกองทุนบัวหลวง

กองทุน RMF ประเภทหุ้นและกองทุนผสมของกองทุนบัวหลวง

โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีเป้าหมายเพื่อให้เก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ จะเก็บหรือลงทุนโดยวิธีใดก็ได้ผ่านกองทุน และลงทุนตามเงื่อนไข คือลงทุนต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อย 5ปี นับจากวันลงทุนครั้งแรก และขายคืนได้เมื่อเกษียณ โดยขั้นต่ำคืออายุ 55 ปีบริบูรณ์

ทั้งนี้ RMF ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องลงทุนในหุ้นเท่านั้น ตราสารหนี้เท่านั้น หรือกองทุนผสมเท่านั้น ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) หรือผู้จัดการกองทุนต่างๆ จึงสามารถออกแบบกองทุน RMF ออกมาได้หลากหลายให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพราะแต่ละกลุ่ม คนอายุมาก อายุน้อย ความต้องการก็ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ช่องทาง โอกาสการลงทุนใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ จึงมี RMF ใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ RMF ที่ลงทุนในต่างประเทศ

ข้อสำคัญอย่างหนึ่งของ RMF คือ ทุกกองจะไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพราะต้องการให้เก็บเงินเพื่อใช้ในอนาคต ไม่ใช่นำผลกำไรออกมาวันนี้

สำหรับครั้งนี้ ขอกล่าวถึง RMF ที่เป็นกองทุนหุ้นในประเทศและกองทุนผสมของกองทุนบัวหลวงก่อน

กองทุน RMF ที่ลงทุนหุ้นในประเทศของกองทุนบัวหลวง ได้แก่

  • กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (ฺBERMF) กองนี้เป็นกองทุนธง กองทุนหลักของเรา เป็นกองทุนหุ้น ที่ผู้จัดการกองทุนจะเลือกให้ วิเคราะห์ให้ว่าควรลงทุนหุ้นตัวไหนกลุ่มไหน ตามกระบวนการลงทุนและแนวคิดของเรา
  • กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลเพื่อการเลี้ยงชีพ (ฺB-TOPTENRMF) กองทุนนี้จัดตั้งตามบัวหลวงทศพล ที่ผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้นเน้นๆ ที่คิดว่าดีที่สุดเหมาะที่สุด 10 ตัว จึงผันผวนสูงกว่ากองบัวหลวงตราสารทุน RMF แต่เชื่อว่าเมื่อเราเลือกหุ้นถูก กองทุนนี้ก็จะให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในระยะยาว ทั้งนี้บางช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหุ้น ทยอยเข้าทยอยออก อาจจะมีหุ้นเพิ่มเป็น 11-12 ตัวได้ในช่วงสั้นๆ
  • กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ (ฺBSIRIRMF) กองทุนนี้เน้นหุ้นปันผลสม่ำเสมอ และหุ้นที่ลงทุนเราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของบริษัท และผู้บริหารด้วย เพราะเราเชื่อว่าบริษัทที่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
  • กองทุนเปิดบัวหลวง Small-Mid Cap เพื่อการเลี้ยงชีพ (ฺB-SM-RMF) กองทุนนี้เน้นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก สำหรับคนที่มองโอกาสการเติบโตของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ส่วนอีก 2 กองทุน จะเน้นหุ้นบางกลุ่มอุตสาหกรรมสำหรับคนที่ชอบความแตกต่าง และรับความผันผวนได้ ประกอบด้วย

  • กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ (IN-RMF) เน้นหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่ม บริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง พลังงาน สื่อสาร พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง ไม่น้อยกว่า 80%
  • กองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย4 เพื่อการเลี้ยงชีพ (ฺBBASICRMF) กองทุนนี้มีแนวคิดเดียวกับบัวหลวงปัจจัย4 คือเรามองว่า เรื่องพฤติกรรมการบริโภคของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเมกะเทรนด์สำคัญของไทยและของโลก คนยินดีจ่ายเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น กองนี้จะลงทุนเฉพาะกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เนื่องจากชนชั้นกลางมีรายได้มากขึ้น ต้องการใช้ขีวิตที่สะดวกสบายขึ้น มีความสุข พร้อมจ่ายเงินแลกกับการมีชีวิตที่ดี  กินดี ดูดี อยู่ดี สุขภาพดี กองนี้พิเศษตรงที่สามารถเลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่อยู่ใน ธีมนี้ได้เช่นกัน ไม่เกิน 25% เพราะเรื่องนี้เป็นเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับRMF ที่เป็นกองทุนผสมของกองทุนบัวหลวง มี 2 กองทุน ได้แก่

  • กองทุนเปิดบัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BFLRMF) กองทุนนี้เป็นกองทุนผสม ที่เน้นการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น แต่ไม่ใช่กองทุนหุ้น ในช่วงที่สถาการณ์ไม่เหมาะผู้จัดการกองทุนสามารถลดสัดส่วนการถือหุ้นลงได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม กองทุนนี้เป็นกองทุนผสม RMF ที่โดดเด่นของบัวหลวง ลูกค้าชื่นชอบจำนวนมาก สำหรับคนที่ไม่ต้องการลงทุนในกองทุนหุ้นตรงๆ แต่รับความผันผวนได้ พิสูจน์แล้วด้วยผลการดำเนินงานระยะยาว
  • กองทุนบัวหลวงหุ้น 25%เพื่อการเลี้ยงชีพ (B25RMF) เป็นอีกกองทุนที่เหมาะกับลูกค้ากลุ่มที่ไม่ต้องการเสี่ยงสูง แต่อาจจะไม่พอใจกับผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ เพราะปัจจุบันผลตอบแทนต่ำ โดยกองทุนนี้จะมีหุ้นไม่เกิน 25% เน้นตรสารหนี้ ดังนั้นจะไม่ผันผวนมากเหมือน เฟล็กซิเบิ้ล RMF ไม่หวือหวามาก แต่ก็มีแกว่งๆ บ้างตามหุ้นในพอร์ต ผลงานโดยรวมระยะยาวๆ จะดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ RMF เพียงอย่างเดียว ก็เหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากเสี่ยงมากนัก แต่พอรับความแกว่งได้บ้าง