จุดเด่นของกองทุน
1) ลงทุนในหุ้นของกิจการที่จำเป็น “ต้องกิน ต้องใช้” เพื่อให้ได้โอกาสรับผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอในระยะยาว โดยได้แรงหนุนจาก:
- พลังบริโภคที่เติบโตในสังคมเมืองแพร่ขยายไปสู่ภูมิภาค ขณะที่ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ทำให้ยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองได้
- ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ช่วยหนุนให้ธุรกิจหรือการค้าขยายไปสู่ประเทศในอาเซียน ซึ่งมีพลมืองไม่ต่ำกว่า 600 ล้านคน
2) ตั้งแต่เปลี่ยนนโยบายกองทุนฯให้จ่ายเงินปันผล ซึ่งดำเนินมาแล้วเกือบ 4 ปี (เริ่ม 14 ธ.ค. 2556) BBASIC จ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ ครั้งที่ 1: 17 ต.ค. 2557 หน่วยละ 1.00 บาท ครั้งที่ 2: 30 ก.ย. 2558 หน่วยละ 0.25 บาท ครั้งที่ 3: 30 มี.ค. 2559 หน่วยละ 0.25 บาท และครั้งที่ 4: 30 ก.ย. 2559 หน่วยละ 2.25 บาท และในปี 2560 จ่ายอีก 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 5: 30 มี.ค. 2560 หน่วยละ 1.50 บาท และครั้งที่ 6: 29 ก.ย. 25560หน่วยละ 0.20 บาท รวมทั้งหมด 6 ครั้ง รวมเป็นเงินปันผลสะสมหน่วยละ 5.45 บาท
มุมมองต่อตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยสามารถปรับตัวขึ้นอีกในเดือนตุลาคม แต่ด้วยความผันผวนที่มากขึ้น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายทำกำไรหุ้นไทย โดยเป็นผู้ขายสุทธิด้วยมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาทในช่วงระหว่างเดือน แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะยังแสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นก็ตาม
บริษัทที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/60 พบว่า หลายบริษัทมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หุ้นหลายตัวกลับถูกขายทำกำไรแม้ว่าผลประกอบการจะออกมาดีก็ตาม โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางถึงเล็กที่ปรับตัวขึ้นมามาก ซึ่งอาจจะเป็นด้วย Valuation ที่ตึงตัวในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงของการปรับฐาน ซึ่งเรามองว่า ถือเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มธุรกิจดีแต่ราคาย่อตัวลงมา และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นน่าจะมีโมเมนตัมต่อเนื่องได้ในปีหน้า ซึ่งจะช่วยหนุนผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในระยะหลังจากนี้
ในช่วงที่ผ่านมา หุ้นหลายตัวปรับตัวขึ้นด้วยความคาดหวังว่าจะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในปีหน้า แม้ว่าอาจจะยังไม่เห็นผลประกอบการที่ฟื้นตัวนักในปี 2560 ทำให้ราคาหุ้นถือว่าค่อนข้างตึงตัวเมื่อเทียบกับผลประกอบการที่ออกมา จึงเชื่อว่าหลังจากนี้ นักลงทุนจะกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเลขผลกำไรมากขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพียงลำพังอาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันหุ้นให้ขึ้นต่อได้อีกอย่างมีนัยสำคัญ และหุ้นบางตัวที่ราคาพุ่งสะท้อนไปถึงผลประกอบการปีหน้าเร็วเกินไป อาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนดีเท่ากับช่วงที่ผ่านมา
ด้านความเสี่ยงในช่วงนี้ ยังไม่เห็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยในประเทศนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนตลาดมากกว่า เช่น การเลือกตั้งที่คาดจะเกิดขึ้นในปี 2561 หรือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศนั้น เชื่อว่าตลาดได้สะท้อนไปในราคาหุ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดงบดุลและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED หรือความล่าช้าของแผนการปรับลดภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศหลักๆ ถือว่ายังแสดงถึงการขยายตัวที่ดีของทั้งประเทศทางฝั่งตะวันตกและฝั่งเอเชีย จึงเชื่อว่า ปัจจัยลบต่อตลาดนั้นมีไม่มาก และตลาดน่าจะปรับฐานเป็นการชั่วคราวมากกว่า
มุมมองต่อกองทุน
ท่ามกลางเมกะเทรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองขยายตัว (Urbanization) หรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย กองทุนบัวหลวงเชื่อมั่นว่ากระแสเหล่านี้คือแนวโน้มหลักของอนาคต แนวทางลงทุนในปี 2559 ที่ว่า “สูงวัย สุขสำราญ บริการ ปัจจัย 4” ยังสอดรับกับโอกาสการลงทุนที่มาพร้อมกับเทรนด์เหล่านี้ เมื่อสังคมเมืองกระจายไปสู่หัวเมืองใหญ่ ย่อมเกิดกิจกรรมการค้าการลงทุน และการจ้างงานมากขึ้น พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รองรับธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น จนเกิดรายได้และความมั่งคั่ง อีกทั้งกลุ่มคนชั้นกลางยังเติบโตเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น พวกเขามีกำลังที่จะจับจ่ายใช้สอยและลงทุนเพื่อยกระดับชีวิต จึงเกิดโอกาสให้สินค้าที่มี “แบรนด์” ได้เติบโต ดังเช่นการขยายตัวของ Chain Restaurants ตามหัวเมืองต่างๆ
ทั้งนี้การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุย่อมทำให้สัดส่วนประชากรสูงวัยสูงขึ้น เหตุที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ก็เพราะใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมผ่านการรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น ทำให้เกิดการถ่ายเทวัฒนธรรมไปทั่วโลก เสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายจะปรับเปลี่ยนเป็นสากลยิ่งขึ้น ทำให้การแสวงหา “ความสุข” ในการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไป นี่คือโอกาสของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัจจัย 4 และการดำรงชีวิต ในภาวะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนเช่นนี้ การลงทุนโดยอิง “ธีมลงทุน” ว่าด้วยอุปโภคบริโภคสินค้าจำเป็นหรือ “สินค้าปัจจัย 4” ยังคงสร้างโอกาสได้เสมอ
เราจึงเสนอกองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 (BBASIC) ซึ่งลงทุนในหลักทรัพย์ของกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และราคาต่ำกว่า Intrinsic Value หรือมีแนวโน้มเติบโตสูง
ทั้งนี้หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมจะพบว่า:
หุ้นกลุ่มพาณิชย์-ได้แรงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับกลยุทธ์ขยายสาขาของบริษัทในเครือ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค ผลประกอบการของบริษัทย่อมเติบโต
หุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์–ยังได้รับผลบวกจากแนวโน้มรายได้เฉลี่ยคนชั้นกลางที่สูงขึ้น (Rising middle class) และการขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization) ทำให้ทิศทางของบ้านราคาระดับกลาง–สูง (5 ล้านบาทขึ้นไป) ยังเติบโตได้ดี นอกจากนี้ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เช่น ศูนย์การค้า ยังได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว จนมีลูกค้าเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น
หุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม-ในปีนี้ผู้ประกอบธุรกิจอาหารต้องเผชิญความท้าทายหลักๆ จากค่าเงินต่างประเทศที่ผันผวนอย่างหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในปี 2560 เนื่องจากส่วนใหญ่มีฐานรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศจากการส่งออกอาหาร นอกจากนี้บางบริษัทยังมีบริษัทย่อยที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศด้วย แต่สำหรับระยะยาว ในฐานะที่อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะย่ำแย่สักเพียงใด คนก็ต้องบริโภคกันอยู่ดี ประกอบกับเป็นหุ้นกลุ่มที่จ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ หุ้นกลุ่มนี้จึงยังน่าสนใจอยู่มาก ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มยังเติบโตต่อเนื่องและแข็งแกร่งจากยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น
หุ้นกลุ่มบริการ (การแพทย์)-1.กลุ่มโรงพยาบาลยังเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้เดินทางเข้ามารักษาตัวจากกลุ่มประเทศอาเซียน 2.ค่ารักษาพยาบาลยังเติบโตตามความยากของการรักษา แนวโน้มกำไรของโรงพยาบาลย่อมสูงขึ้น 3.การที่คณะกรรมการประกันสังคมมีมติปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาที่เปิดรับผู้ประกันตน การเพิ่มค่าบริการดังกล่าว จะส่งผลดีกับโรงพยาบาลให้มีรายได้มากขึ้น
หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง-ความต้องการปูนซีเมนต์ยังเติบโต เนื่องด้วยชุมชนเมืองกำลังขยายตัว อีกทั้งได้แรงหนุนจากเมกะโปรเจ็กต์ในประเทศ ซึ่งจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการลงทุนด้านนี้ในประเทศ Emerging Markets ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน
หุ้น 5 อันดับแรกที่กองทุนบัวหลวงปัจจัย 4 (BBASIC) ลงทุน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560
BJC: บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
ดำเนินธุรกิจ 1. ผลิต ทำการตลาด และจัดจำหน่าย (1) ผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์แก้ว กระป๋องอลูมิเนียม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแข็ง (2) ผลิตภัณฑ์ด้านอุปโภคบริโภค ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากนม สินค้าเครื่องใช้ส่วนตัว (สบู่ แชมพู และเครื่องสำอาง) และสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน (กระดาษทิชชู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด) 2. นำเข้าและจัดจำหน่าย (1) ผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์ ได้แก่ เภสัชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ (2) ผลิตภัณฑ์ด้านเทคนิค ได้แก่ เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ (3) ผลิตภัณฑ์ด้านหนังสือและนิตยสาร เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน 3. ออกแบบ จัดหา และจัดจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ ระบบควบคุมอัตโนมัติ เครื่องมือเพื่อการอุตสาหกรรม อุปกรณ์คลังสินค้าและขนส่งสินค้า และโครงเหล็กเสาไฟฟ้าแรงสูงชุบสังกะสี 4. ให้บริการด้านพิธีการออกสินค้า คลังสินค้า ขนส่ง และจัดส่งสินค้า (โลจิสติกส์) 5. ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและธุรกิจอื่น ๆ
จุดเด่น 1) มีศูนย์กระจายสินค้าครอบคลุมทั่วประเทศ 2) เป็นผู้นำตลาดในการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 3) เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคที่ติดอันดับต้นๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม 4) ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีฐานการผลิตในหลายประเทศของอาเซียน เพื่อรองรับความเติบโตในอนาคต
BDMS: บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
เป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ มีโรงพยาบาลเครือข่ายในไทยและกัมพูชา ดำเนินธุรกิจในชื่อโรงพยาบาล 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล พร้อมทั้งยังประกอบธุรกิจสนับสนุนด้านการแพทย์ ได้แก่ ธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ธุรกิจผลิตยา ธุรกิจผลิตน้ำเกลือ และร้านขายยา เป็นต้น
จุดเด่น 1) ความต้องการใช้บริการของผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น 2) เครือข่ายโรงพยาบาลเข้มแข็ง โรงพยาบาลทั้ง 41 แห่ง กระจายในทำเลที่โดดเด่นทั่วประเทศและต่างประเทศ 3) มุ่งเน้นรักษาโรคที่ซับซ้อนทำให้เกิดผลดีต่อกำไรในอนาคต 4) ได้รับประโยชน์จากการที่คณะกรรมการประกันสังคมมีมติปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล
TU: บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง พร้อมทั้งขยายธุรกิจให้ครบวงจร ด้วยธุรกิจอาหารสำเร็จรูปและอาหารว่างที่เน้นอาหารทะเล ทั้งยังมีธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ ธุรกิจตลาดภายในประเทศ ธุรกิจอาหารสัตว์ และธุรกิจพัฒนาสายพันธุ์กุ้งเพื่อจำหน่าย
จุดเด่น 1) ดำเนินธุรกิจอาหารทะเลครบวงจร จึงมีต้นทุนผลิตต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน 2) ต้นทุนวัตถุดิบลดลง เช่น ราคาปลาแซลมอนเริ่มถูกลงมาบ้างแล้ว ทําให้สินค้าของบริษัทได้กําไรมากขึ้น 3) สามารถแก้ปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ได้แล้ว ทำให้อัตราการเลี้ยงกุ้งแล้วรอดมากขึ้น จากการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งให้ทนทานต่อโรค 4) ขยายตลาดด้วยวิธีเข้าซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างยอดขายให้เติบโต
SCC: บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) ใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และกระดาษ-บรรจุภัณฑ์ ด้วยธุรกิจในเครือนั้นหลากหลาย จึงช่วยกระจายความเสี่ยงด้านรายได้เป็นอย่างดี
จุดเด่น 1) ธุรกิจปูนซีเมนต์ได้แรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการลงทุนที่จะตามมาของภาคเอกชน 2) มีประวัติจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 4-5% 3) พัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (HVA) เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 4) ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีฐานการผลิตในหลายประเทศอาเซียน พร้อมรองรับความเติบโตในอนาคต
M: บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ประกอบธุรกิจร้านอาหาร “เอ็ม เค สุกี้” ร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” ซึ่งได้รับสิทธิแฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์อื่นๆ อีก 2 แบรนด์ ได้แก่ “ฮากาตะ” และ “เท็นจิน” ร้านอาหารไทย “ณ สยาม” และ “เลอสยาม” ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ “เลอ เพอทิท”
จุดเด่น 1) เป็นเชนร้านอาหารที่ได้รับความนิยมมากอันดับต้นๆ ในประเทศ มีสาขาครอบคลุมทั้งประเทศ เช่น ร้านเอ็มเค สุกี้ อยู่ทั้งหมด 425 สาขา (รวมร้านเอ็มเค โกลด์ 6 สาขา) ร้านอาหารญี่ปุ่นฮากาตะ 3 สาขา ร้านมิยาซากิ 22 สาขา เป็นต้น 2) มีการขายแฟรนไชส์ร้านเอ็มเค สุกี้ ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในประเทศสิงคโปร์์ 3) มีประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม 4) ผลประกอบการกำลังฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ
ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน
(+) ปัจจัยระยะสั้น จากที่ ครม. เห็นชอบมาตรการช้อปช่วยชาตินำค่าใช้จ่ายมาช่วยหักภาษีได้ในวงเงิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทำให้มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
(+) สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 3/60 ขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 เดือน และถือว่าขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนรวม ส่วนในด้านการผลิต มาจากแรงหนุนการผลิตสาขาอุตสาหกรรม ค้าส่ง-ค้าปลีก
(+/-) กระแสเงินทุนต่างชาติเริ่มชะลอการไหลออก โดยตลาดหุ้นไทยมีแรงซื้อกลับมาที่ 236 ล้านบาท (ขายสุทธิทั้งปี -12,563.42 ลบ.)เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตรที่ 14,965 ล้านบาท (17/11/2560)
(-) ต้นทุนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามค่าแรงทั้งจากการหาแรงงานที่ยากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการนำเข้าและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รวมถึงค่าแรงและสวัสดิการของแรงงานต่างด้าวที่จะเพิ่มขึ้นมาเทียบเท่ากับแรงงานไทย ขณะที่การปรับราคาสินค้าและบริการทำได้ยากเนื่องจากกำลังซื้อยังไม่เข้มแข็งนัก ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาสูง รวมทั้งตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงหันมาปรับลดต้นทุนดำเนินการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และเพิ่มช่องทางในการขาย
(-) ความผันผวนของค่าเงินและตลาดหุ้นในเอเชีย เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับร่างกม.ปฏิรูปภาษีสหรัฐอาจพบกับทางตัน
ในส่วนยุโรป มีเรื่องของสกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เยน และปอนด์ หลังจากนางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี คว้าน้ำเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจุดกระแสความกังวลว่าจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองในเยอรมนี เนื่องจากเยอรมนีเลือกตั้งไปตั้งแต่ 2 เดือนก่อน ทั้งนี้ ยุโรปถือว่าเป็นแหล่งส่งออกสำคัญของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าเป็นอันดับที่ 3 (รองจากอาเซียน และจีน)