กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียน (B-ASEAN) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASEANRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียน (B-ASEAN) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASEANRMF)

สรุปภาวะตลาดหุ้นอาเซียนในช่วงเดือน ธ.ค. 2018

ดัชนี MSCI AC ASEAN Index ในเดือน ธ.ค. ยังคงปรับลดลงต่อเนื่องอีก 3.8% ส่งผลให้ทั้งปี 2018 ตลาดหุ้นอาเซียนปรับตัวลง 11% โดยได้รับปัจจัยกดดันจากภายนอกมากกว่าปัจจัยภายในภูมิภาค ปัจจัยหลักคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) รวมถึงยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ยืดเยื้อและยังไม่ได้ข้อสรุปของการเจรจาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติในตลาดอาเซียนไหลออกอย่างต่อเนื่องทั้งปี ยกเว้นเวียดนามเท่านั้นที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้า อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นอาเซียนนับว่าปรับตัวลดลงน้อยกว่าเอเชียที่ในปี 2018 ดัชนี MSCI AC Asia ex-Japan ปรับตัวลง 16% ด้วยความที่ประเทศกลุ่มอาเซียนได้รับผลกระทบของปัญหาสงครามการค้าอย่างค่อนข้างจำกัด และบางประเทศ เช่น เวียดนาม กลับกลายเป็นได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต ประกอบกับราคาหุ้นที่ระดับมูลค่าปรับลดลงมาจนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในอดีต

ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่ปรับลงมากสุดใน 2018 ด้วยเหตุจากราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อการนำเข้าและทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นและอัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังค่าเงินของประเทศที่อ่อนค่าลงเรื่อยๆ ทำให้ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อพยุงค่าเงินและต่อสู้กับเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปี 2019 ตลาดหุ้นอาเซียนกลับมามีผลตอบแทนเป็นบวกอีกครั้ง ด้วยปัจจัยที่คอยกดดันตลาดหุ้นอาเซียนในปี 2018 เริ่มผ่อนคลายลง ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยตลาดหุ้นทุกประเทศในอาเซียนได้รับกระแสเงินทุนไหลเข้า เทียบกับปี 2018 ที่เกือบทุกประเภทในภูมิภาคต้องเผชิญกับสภาวะเงินทุนไหลออก

มุมมองของกองทุนบัวหลวงต่อเศรษฐกิจอาเซียนแบ่งตามรายประเทศ

อินโดนีเซีย : เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2019 น่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่ลดลงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลาง (BI) สำหรับทั้งปี 2019 คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5.1% โดยเป็นปีที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะมีเสถียรภาพมากขึ้น มีการบริโภคภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่สำคัญ รวมถึงการที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ และค่าเงินเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จึงทำให้แรงกดดันที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลดลง

 

มาเลเซีย : เศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะเติบโตได้ 4.6% ในปี 2019 โดยการบริโภคในประเทศยังมีโมเมนตัมการเติบโตต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะกลับมาเก็บภาษี SST (Sales and Service Tax) นับตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การอุดหนุนราคาน้ำมัน และนโยบายการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่การลงทุนภาครัฐบาลน่าจะยังคงชะลอตัวต่อ ส่วนธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ด้วยระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้ BNM ต้องมีความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

ฟิลิปปินส์ : ยังคงมีโมเมนตัมการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาครัฐบาลจากนโยบาย Build Build Build ของรัฐบาลจะช่วยหนุนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ขณะที่ภาคการบริโภคได้รับอานิสงส์จากแรงกดดันทางราคาที่ลดลงตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงาน โดยคาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวได้ 6.4% ในปีนี้

 

 

สิงคโปร์ : ในปีนี้เศรษฐกิจสิงคโปร์จะยังคงเติบโตได้จากอุปสงค์ในประเทศที่ทรงตัว ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ค่อยๆ ฟื้นตัวและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยไต่ราคาขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของสิงคโปร์ และภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากภาวะวัฎจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก

 

ไทย : คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2019 จะพึ่งพาการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาครัฐ จากการเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทว่าปัจจัยภายนอกประเทศอาจไม่เอื้อต่อภาวะการส่งออก โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2019 จะเติบโต 4.1%

 

 

เวียดนาม : มองว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน มีการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ผนวกกับการลงทุนภาครัฐบาลที่เร่งตัว จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจเวียดนาม อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2019 นี้ ธนาคารกลาง SBV จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 2 ครั้งจากปัจจุบันที่ 6.25% เพื่อชะลอการขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนั้น อีกหนึ่งความเสี่ยงหลักจะมาจากการที่ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้นจนมีแนวโน้มทะลุ 65% ต่อ GDP บวกกับการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์

ปัจจัยบวกและลบที่คาดว่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นอาเซียนในช่วงปี 2019

(+) สัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการดำเนินนโยบายการเงินแบบรัดกุม (Tightening Monetary Policy) ของ FED ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลง เป็นผลดีต่อกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงอาเซียน

(+) ราคาน้ำมันโลกที่ลดระดับลงจะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ และสถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น รวมถึงจะช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน

(+) การลงทุนของภาครัฐบาลที่เร่งตัวขึ้นในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม เป็นต้น

(+/-) การเลือกตั้งของไทยและอินโดนีเซียที่จะมีขึ้นในช่วงปี 2019 อาจช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศรวมถึงน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทว่าหากเกิดความไม่แน่นอนหรือมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้

(-) การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก

(-) ผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนผ่านช่องทางรายได้จากการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่ลดลง

(-) การยกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันและค่าสาธารณูปโภคของอินโดนีเซียในช่วงปลายปี 2019

(-) รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนกับอาคารที่ก่อก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ 2.5 หมื่นตันขึ้นไปต่อปี ที่อัตรา 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตัน ตั้งแต่ปี 2019 – 2024 ซึ่งจะกระทบบริษัทประมาณ 30-40 แห่งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม และเซมิคอนดักเตอร์

มุมมองของผู้จัดการกองทุนและกลยุทธ์การลงทุน

ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของอาเซียนในปีนี้ ด้วยสัญญาณเชิงบวกจากการที่ FED ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงจากช่วงปีที่ผ่านมาจะช่วยหนุนให้ประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ สามารถบรรเทาภาวะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงช่วยให้กำลังซื้อของประชาชนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรกตาม ผู้จัดการกองทุนยังคงระวังเรื่องความเสี่ยงด้านสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ว่าอาจจะส่งต่อมายังตลาดอาเซียน ในเชิงเศรษฐกิจและ Sentiment ของตลาดในระยะสั้นได้ แต่ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนของกลุ่มประเทศอาเซียนในระยะยาว โดยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนชนชั้นกลางและกำลังซื้อที่ขยายตัวจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจะยังคงขยายตัวได้มากกว่า 5% ต่อปี ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองที่สุดในโลก

กลยุทธการลงทุนในปี 2019 ผู้จัดการกองทุนคัดเลือกการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยยังคงเชื่อมั่นในหุ้นของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกำลังซื้อกลุ่มคนชนชั้นกลางที่ขยายตัว โดยผู้จัดการกองทุนได้ Overweight ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์และเวียดนาม ด้วยมุมมองเชิงบอกต่อเวียดนามที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และจะกลายฐานการผลิตสำคัญจากกระแส FDI ที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ ขณะที่ Underweight สิงคโปร์ โดยยังคงระมัดระวังในผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนรวมถึงวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจของสิงคโปร์ รวมถึง Underweight มาเลเซียจากแนวโน้มการลงทุนในประเทศที่อาจชะลอตัวลงจากการยกเลิกและลดขนาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้ง การส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัวในระยะสั้นจากราคาน้ำมันปาล์มที่ลดลง

ทั้งนี้ บลจ. บัวหลวง เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนจะสามารถตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการแสวงหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเชื่อว่ากองทุนจะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ในระยะยาว สำหรับนักลงทุนที่เชื่อมั่นโอกาสในอนาคตและอดทนต่อความผันผวนของตลาดในระยะสั้นได้

ตัวอย่างหุ้นในพอร์ตการลงทุน

  • Ayala Land Inc (ALI PM) ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในฟิลิปปินส์ ทั้งโรงแรม Shopping Center พื้นที่เช่า โดยรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุด ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ALI ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ายังฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ นอกจากนั้น ในระยะกลาง – ยาว ยังได้รับประโยชน์จากการอุปสงค์ต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของทั้งชาวฟิลิปปินส์และชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ
  • บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven และลงทุนในธุรกิจสนับสนุนธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ รวมถึงธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” ผู้จัดการกองทุนเลือก CPALL ด้วยโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง ได้รับผลกระทบจากอี-คอมเมิร์ซในระดับจำกัด มีข้อได้เปรียบในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย ด้วยจำนวนสาขาที่ไม่เคยลดลง อีกทั้ง ยังมีวงจรกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง