แม้ว่าปัจจุบันดูเหมือนคนไทยเริ่มหันมาสนใจเรื่องราวของการเตรียมตัวในวัยเกษียณกันมากขึ้น มีข้อมูลเนื้อหาต่างๆ มากมายให้อ่านให้ศึกษา แต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทย ประมาณ 66 ล้านคน โดยกลุ่มที่เริ่มสนใจเรื่องนี้มักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน ที่มีรายได้มากกว่ารายจ่าย อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง เริ่มเข้าสู่ผู้ใหญ่วัยกลางคน เริ่มมีปัญหาสุขภาพ และมีภาระดูแลผู้สูงวัยโดยตรง
ทำไมคนกลุ่มนี้ถึงเริ่มสนใจเรื่องปัญหาวัยเกษียณ
เพราะคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ได้สัมผัสกับปัญหาด้านค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยโดยตรง และเริ่มกังวลกับอนาคตของตนเองว่าจะเป็นอย่างไร ในวันที่ตนเองเป็นผู้สูงวัยจะทำอย่างไร
1) ในวันที่ตนเองมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แม้จะวุ่นวายมีหน้าที่การงาน แต่ก็ยังมีพี่น้อง สลับสับเปลี่ยน ช่วยเหลือกัน แต่ตนเองมีลูกเพียง 1-2 คน หรือบางคนก็ไม่มีลูกหลาน รวมถึงไม่ได้แต่งงาน แล้วเมื่อแก่ตัวไปใครจะมาดูแล ทางออกก็หนี้ไม่พ้นการว่าจ้างผู้ดูแล ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่าย
2) วิทยาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นในการดูแลรักษาผู้สูงวัย แม้จะทำให้ผู้สูงวัยมีอายุยืนยาว แต่ก็มาพร้อมค่าใช้จ่าย ไม่เก็บเงินไว้เองจะเอาเงินที่ไหนมารักษาตัวเอง
3) ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคต่าง ๆรวมถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นปัจจุบันที่แสวงหาสุขนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้นตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประการสำคัญคนกลุ่มนี้เริ่มมีฐานะมั่นคงขึ้นตามอัตภาพการดำรงชีวิต มีหน้าที่การงานมั่นคง มีเงินเหลือเพียงพอที่จะเก็บออมและเริ่ม “กลัว” ชีวิตในอนาคตของตนเองทั้งที่จริงๆ เรื่องการเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณนี้เป็นสิ่งจำเป็นของคนทุกคนไม่เฉพาะกลุ่มที่พร้อมสำหรับการเก็บออมเท่านั้น และปัญหาใหญ่ทั้ง 3 ข้อนี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญเช่นกัน