By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ หรือ Solar Energy จัดเป็นพลังงานทดแทนประเภทหนึ่ง ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ประกอบกับทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้มีความต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพผลิตพลังงานมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทย
หากจะขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คงต้องอ้างอิงถึงกระทรวงพลังงาน ที่วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ ที่จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 ไว้ โดยมี 3 ด้านหลักที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญ
- ด้านความมั่นคงทางพลังงาน – เน้นการตอบสนองปริมาณความต้องการพลังงานที่สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการเพิ่มของประชากร และอัตราการขยายตัวของเขตเมือง รวมถึงการกระจายสัดส่วนของเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม
- ด้านเศรษฐกิจ – คำนึงถึงต้นทุนพลังงานที่เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว การปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุน และให้มีภาระภาษีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ ไม่ให้เกิดการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ด้านสิ่งแวดล้อม – เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ และการผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
จากแผนพัฒนาฯ นี้เอง กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2579 จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งหมด 6,000 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากสถานภาพ ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งเวลานั้นผลิตได้ 1,298.51 เมกะวัตต์ หรือประเมินแล้ว คือ ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า นับจากปี 2558-2579
ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2561 นั้น พบว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้น 20.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้ก็ประกอบไปด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ
เหล่านี้ เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น ที่สนับสนุนว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไทย…เหตุใดจึงเติบโต ส่วนเหตุผลอื่นๆ จะมีอะไรที่น่าสนใจอีกนั้น โปรดรอติดตามต่อในบทความถัดไป
(ที่มาข้อมูล: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน)