LTF จะขายไหม หรือไปต่อดี?
เมื่อถามถึงกองทุนรวมลดหย่อนภาษี เชื่อว่าคงไม่มีนักลงทุนคนใดไม่รู้จักกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ด้วยเงื่อนไขการลงทุนที่ไม่ซับซ้อน และให้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ในอนาคตน่าจะไม่มีการต่ออายุการลงทุนในกองทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษี ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่า LTF จะยังไปต่อได้จริงๆ หรือควรขายคืนนำเงินออกมาดี
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หัวใจหลักของการลงทุนในกองทุน LTF คือการลงทุนในหุ้นไทยระยะยาว ส่วนเรื่องลดหย่อนภาษีเป็นเพียงผลพลอยได้ ดังนั้น ความหมายของคำว่าต่ออายุหรือไม่ต่ออายุ ที่นักลงทุนมีความกังวล ส่วนใหญ่ถูกจำกัดความไว้ในเรื่องสิทธิในการลดหย่อนภาษี และความเชื่อที่ว่า นักลงทุนคนอื่นจะพากันเทขาย และพาให้พอร์ตการลงทุนที่เราสะสมไว้กำไรหดหายไปด้วย
กองทุน LTF หลังจากที่ไม่ได้รับการขยายสิทธิให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็เป็นกองทุนเปิดทั่วไป ได้รับการบริหารจัดการตามนโยบายเดิมตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ส่วนที่แตกต่างกับกองทุนเปิดทั่วไปคือ สำหรับเงินลงทุนในกองทุน LTF ที่ลงทุนไว้เพื่อลดหย่อนภาษีก่อนหน้านี้ ยังขายคืนไม่ได้จนกว่าจะถือครองครบตามเงื่อนไข ส่วนเงินลงทุนในกองทุน LTF ที่ถือครองครบตามเงื่อนไขแล้ว นักลงทุนสามารถขายคืนได้ตามต้องการ
อย่างไรก็ตาม ในการขายคืนหน่วยลงทุนควรมีเป้าหมายว่าต้องการนำเงินออกมาเพื่อทำอะไร? เช่น ขายคืนเพื่อทำกำไรและนำเงินไปพักไว้ในตราสารหนี้เพื่อรอลงทุน ขายคืนเพราะต้องการนำเงินไปดาวน์บ้าน
สำหรับปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่นักลงทุนสามารถลงทุนในกองทุน LTF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยต้องถือครองหน่วยลงทุนนี้ 7 ปีปฏิทิน ในมุมมองส่วนตัวยังแนะนำให้ลงทุนในกองทุน LTF สำหรับ นักลงทุนที่สนใจลงทุนระยะยาวในหุ้นไทยอยู่แล้ว โดยไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ลงทุน เพราะได้รับทั้งผลตอบแทนและสิทธิในการลดหย่อนภาษี
ทั้งนี้ กองทุน LTF แต่ละกองทุนก็มีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะเน้นลงทุนในหุ้นไทยเหมือนกัน แต่คัดเลือกหุ้นเข้ามาอยู่ในพอร์ตไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างกองทุน LTF ของกองทุนบัวหลวง ทั้ง 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 (ฺBLTF75) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF) กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลหุ้นระยะยาว (B-TOPTENLTF) และกองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 หุ้นระยะยาวปันผล (BBASICDLTF)
สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการได้รับผลตอบแทนระหว่างทางจากเงินปันผล สามารถเลือกลงทุนได้ 3 กองทุน โดยกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยาว 75/25 (ฺBLTF75) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว(B-LTF) เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นแบบกระจายตัว นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง นักลงทุนมือใหม่ที่เริ่มต้นลงทุนในหุ้น รวมถึงในช่วงที่ตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน ส่วนอีกกองทุนคือ กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลหุ้นระยะยาว (B-TOPTENLTF) เป็นกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นเน้นๆ มาให้ 10 ตัว เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เนื่องจากมีหุ้นเพียง 10 ตัว ทำให้น้ำหนักในการลงทุนหุ้นแต่ละตัวค่อนข้างมาก แต่เมื่อความผันผวนมีมาก โอกาสได้รับผลตอบแทนก็มากเช่นกัน
กองทุน LTF เดียวของกองทุนบัวหลวงที่มีนโยบายปันผลคือ กองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 หุ้นระยะยาว(BBASICDLTF) กองทุนนี้เน้นการลงทุนในหุ้นไทย/ต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค กำหนดจ่ายปันผลปีละ 2 ครั้งตามที่เห็นสมควร
สรุปคือ กองทุน LTF ยังเป็นทางเลือกที่ดีของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นไทย โดยไม่อยากให้มองเห็นเฉพาะผลประโยชน์ระยะสั้นจากสิทธิในการลดหย่อนภาษี แต่ให้พิจารณาถึงผลประโยชน์ระยะยาวจากการลงทุนในหุ้นไทยที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถบริหารจัดการได้ตลอดระยะเวลาลงทุนที่ต้องถือครองหน่วยลงทุนตามเงื่อนไข ด้วยการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนภายในกองทุนประเภท LTF ด้วยกันเอง เช่น ช่วงที่หุ้นมีความผันผวนเลือกลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 (ฺBLTF75) เพราะมีบางส่วนลงทุนในตราสารหนี้ (ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นแบบเต็มๆ) และเมื่อสัญญาณการลงทุนกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น ก็สับเปลี่ยนไปยังกองทุนเปิดบัวหลวงทศพลหุ้นระยะยาว (B-TOPTENLTF) เพื่อหาโอกาสให้เงินลงทุนได้เติบโต โดยการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกองทุน LTF ด้วยกันภายใต้กองทุนบัวหลวง จะใช้ราคารับซื้อคืนซึ่งเป็นราคาเดียวกันกับ NAV ก็คือไม่มีค่าธรรมเนียมนั่นเอง