Core Macro Theme
ตลาดผ่อนคลายความกังวลในช่วงสั้นๆ
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2020
1. การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังดำเนินไปช่วยผ่อนคลายความกังวลของตลาดในระยะสั้น
ปัจจุบันสหรัฐฯ และจีนกำลังอยู่ในช่วงการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในระยะที่ 1 ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวในการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ที่มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากชิลีได้ประกาศยกเลิกการจัดประชุมในครั้งนี้ไป ทำให้กำหนดเวลาสำหรับการลงนามมีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ตลาดปรับมุมมองต่อสงครามการค้าในทิศทางที่ดีขึ้น โดยล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธ.ค.) สำนักงานคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศรายละเอียดข้อตกลงการค้าหรือที่เรียกว่า Phase-one Deal เบื้องต้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม รายละเอียดดังนี้
1) สหรัฐฯจะลดอัตราภาษีลงเป็น 7.5% จากปัจจุบันที่ 15.0% กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 1.12 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา
2) สหรัฐฯ ยกเลิกการปรับขึ้นภาษีนำเข้าก้อนสุดท้าย ซึ่งเดิมกำหนดให้เริ่มเก็บในวันที่ 15 ธ.ค. ในอัตรา 15.0% กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 1.60 แสนล้านดอลลาร์ฯ
ส่วนจีนตกลงจะซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการซื้อสินค้าเกษตรราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯต่อปี และจะเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงไม่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งถึงแม้ว่าตลาดได้คลายความกังวลต่อสงครามทางการค้า แต่เราคาดว่าประเด็นข้อโต้แย้งนี้อาจจะกลับมาใหม่ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ
กระนั้น จากประสบการณ์ในช่วงปลายปี 2018 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2019 ทำให้เรายังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่การเจรจาการค้าสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร (CEO Survey) โดย UBS นั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าผลการเจรจาอาจไม่ราบรื่นนัก และบริษัทต่างๆ ได้มีการปรับแผนการลงทุนเพื่อรับสถานการณ์เชิงลบที่สุด (Worst-case Scenario) ไว้แล้วด้วย ทั้งนี้ ในอนาคต การเจรจาการค้าในระยะถัดไประหว่างทั้งสองประเทศจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเริ่มแตะประเด็นที่จะกระทบกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้การเจรจาต้องเผชิญความท้าทาย ด้วยแนวโน้มดังกล่าว เรามองว่า ตลาดจะต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ความตึงเครียดการค้าอาจเลวร้ายลงในปี 2020
2. เศรษฐกิจไตรมาส 3/2019 ชะลอตัวทั่วโลก
ในรายประเทศ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 2.1% QoQ saar เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี จากการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการบริโภค ด้านยูโรโซน สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อย่างฉิวเฉียด โดยขยายตัว 0.2% QoQ (ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาส 2) หรือ 1.2% YoY (เท่ากับไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน) ส่วนเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 เติบโตลดลงมาอยู่ที่ 6.0% น้อยที่สุดในรอบ 27 ปี จากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก
ตัวเลขรายเดือนต่างสะท้อนโมเมนตัมการเติบโตที่อ่อนแรงลง เริ่มจาก Markit PMI ของยูโรโซนที่ลดลงตามตัวเลขของเยอรมนีที่ชะลอตัวแรง ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่นแตะระดับต่ำ 50 ตั้งแต่เดือน พ.ค. ขณะที่เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนามได้รับผลกระทบมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเข้าสู่ปี 2020 ด้วยโมเมนตัมที่ชะลอลง
3. ธนาคารกลางหลักอยู่ในภาวะ “Wait and See” นักลงทุนคาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากฝั่งภาครัฐ
ธนาคารกลางทั่วโลกได้หันมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากคาดว่าผลกระทบจากความตึงเครียดด้านการค้าจะยืดเยื้อต่อไป โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว 75bps นับตั้งแต่เดือนก.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การลดดอกเบี้ยในรอบนี้ เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนนโยบายในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-cycle Easing) และ ณ ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องลดลงอีก ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิมในเดือนต.ค. ต่างจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ประกาศใช้ QE อีกครั้ง โดยเริ่มเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2019 เป็นต้นไปอย่างไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
ทั้งนี้ทิศทางนโยบายการเงินล่าสุดของธนาคารกลางต่างๆ ส่งผลเชิงนัยยะสองประการ
- ประการแรก ธนาคารกลางเริ่มตระหนักว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นเคย รวมทั้งเกรงว่ากระสุนในมือจะมีไม่เพียงพอเมื่อถึงคราวที่เศรษฐกิจชะลอตัวครั้งถัดไป ทำให้ยังต้องเก็บกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ก่อน ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่ยากต่อการตัดสินใจ (Dilemma) ที่ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วต้องเผชิญในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากต้องการที่จะใช้นโยบายการเงินเชิงรุก (Pre-emptive) เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิด Recession แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจอ่อนแอพอที่จะต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นหรือไม่ โดย Fed มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนถึงกลางปี 2020 แต่ยังขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ด้านธนาคารกลางอื่นอย่าง BoJ และ ECB น่าจะยังคงต้องพิจารณาผลดีผลเสียของการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบก่อนจะตัดสินใจดำเนินนโยบาย ซึ่งพื้นที่ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของทั้งคู่ในขณะนี้มีอยู่อย่างจำกัด
- ประการที่สอง ธนาคารกลางต่างๆ รวมทั้ง IMF ต่างพูดถึงความจำเป็นของการใช้นโยบายการคลังเพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยนาย Draghi อดีตประธาน ECB กล่าวย้ำในการประชุมเดือนก.ย. 2019 ว่า “ด้วยการเติบโตที่ชะลอตัวลง ประกอบกับความเสี่ยงด้านลบภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนั้น ภาครัฐควรจะหันมาดำเนินนโยบายการคลังแบบเชิงรุก (Pre-emptive) มากกว่าที่จะเป็นแบบเชิงรับ (Reactive)” นอกจากนี้ นาย Draghi ยังได้กล่าวว่า รัฐบาลควรดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายในตอนนี้เลย เนื่องจากเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์เป็นสองประเทศที่ถูกตั้งความหวังว่าควรจะเริ่มดำเนินนโยบายก่อนประเทศอื่นๆ ด้วยว่ามีศักยภาพในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสูงที่สุด จากจัดทำงบประมาณการคลังที่เกินดุลมาหลายปีติดต่อกัน และแม้ว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนี นาง Angela Merkel ยังสงวนท่าทีในประเด็นดังกล่าว เราก็ไม่สามารถค้านความเห็นของ ECB ได้ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิผลจะต้องอาศัยทั้งการดำเนินโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายประกอบกัน ซึ่งเรามองว่าประเทศที่มีการใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลายน่าจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนในปี 2020 ได้
4. การเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ความเสี่ยงสำคัญในปีหน้า
- การเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร
การเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร จากผลการเลือกตั้งในวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา พรรค Conservative ที่นำโดยนายบอริส จอห์นสันสามารถชนะการเลือกตั้ง และกวาดที่นั่งในสภาได้เพิ่มขึ้นเป็น 365 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 650 ที่นั่ง) ส่งผลให้พรรค Conservative สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้อย่างเด็ดขาด จากเดิมที่เป็นรัฐบาลพรรคผสม ขณะที่พรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรค Labour กลับได้ที่นั่งลดลงเป็น 203 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งที่เป็นไปตามที่ตลาดคาด และเส้นทางการถอนตัวออกจากอียูที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ค่าเงินปอนด์แข็งค่าแตะระดับ 1.35 ดอลลาร์ฯต่อปอนด์ในช่วงหลังวันเลือกตั้ง
ทั้งนี้ เราคาดว่า ข้อตกลง Brexit ของนายบอริส จอห์นสันน่าจะได้รับความเห็นชอบจากสภาอย่างราบรื่นขึ้น และทำให้สหราชอาณาจักรสามารถถอนตัวออกจากอียูได้ในวันที่ 31 ม.ค. ที่จะถึงนี้ ตามที่อียูตกลงขยาย Deadline ให้สหราชอาณาจักรออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมวันที่ 31 ต.ค. 2019 อย่างไรก็ดี เรายังไม่ตัดความเป็นไปได้ของกรณีที่สหราชอาณาจักรต้องออกจากอียูอย่างไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit) หรือกรณีการจัดทำประชามติรอบที่ 2 แม้ว่าในมุมมองของเราความเป็นไปได้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ หากสหราชอาณาจักรสามารถออกจากอียูได้ตามแผนในวันที่ 31 ม.ค. หลังจากนั้นสหราชอาณาจักรจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านไปจนถึงปลายปี 2020 ซึ่งระหว่างนี้จะต้องเจรจากับอียูเพื่อให้ได้ข้อตกลงรูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเจรจากันในเดือนมี.ค. 2020 และมีเวลาในกระบวนการเจรจาให้ได้ข้อสรุป ไปจนถึงนำเข้าสภาเพื่อให้สัตยาบันเพียง 10 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรสามารถขอยืดเวลาระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ โดยต้องเสนออียูภายในช่วงกลางปี 2020 แต่ท่าทีของนายบอริส จอห์นสันที่พยายามจะออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการยืดช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านออกไป ทำให้ตลาดเกิดความผันผวน และค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมาทันที ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า ด้วยรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้การลงทุน และเศรษฐกิจของ สหราชอาณาจักรน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- การเลือกตั้งของสหรัฐฯ
จะจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 2020 ซึ่งเราคาดว่าตลาดน่าจะเกิดความผันผวนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง จาก 1) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต 2) นโยบายของทั้งสองพรรค 3) ผลสำรวจการคาดการณ์การเลือกตั้ง และสุดท้ายคือ ผลการเลือกตั้งจริง โดยจากข้อมูลในอดีต ตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุนมักจะผันผวนมากในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ในช่วงระหว่างการหาเสียง ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอาจจะมีการชูประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ อาทิ การยกเลิกมาตรการการลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะจุดชนวนให้เกิดความผันผวนในตลาดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บางนโยบายของฝั่งทรัมป์ก็อาจสร้างความวิตกกังวลให้ตลาดได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากทรัมป์ยกระดับการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศต่างๆ ให้เข้มข้นขึ้น หรือผลักดันราคายาในสหรัฐฯให้ลดลง ซึ่งจะกระทบไปยังอุตสาหกรรม Healthcare รวมถึงประกาศใช้ข้อบังคับเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Firms มากขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อยู่บนสมมติฐานที่ว่าทรัมป์รอดพ้นจากการถูกถอดถอน (Impeachment) ที่ทำให้ต้องถูกปลดจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งหากผลออกมาในทางตรงกันข้าม ความเสี่ยงเชิงลบในตลาดก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
- ในเชิงเศรษฐกิจ
ปีที่มีการเลือกตั้งมักจะทำให้การลงทุน และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจชะลอตัวลง แต่ไม่มีผลกระทบต่อการเติบโตของค่าจ้างแรงงาน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงในปัจจุบันจึงน่าจะได้แรงหนุนจากการบริโภคที่เติบโตดีมาทดแทน ทำให้ในภาพรวม การเลือกตั้งจึงอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
โดยสรุป เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว ภาคอุตสาหกรรมหดตัวทั่วโลก ความตึงเครียดด้านการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) นำมาซึ่งความไม่แน่นอนที่มากขึ้นของระบบการค้าโลก เรามองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2019 น่าจะขยายตัว 2.9-3.2% ลดลงจากในช่วงปี 2017-18 ส่วนในปี 2020 การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายน่าจะช่วยลดผลกระทบของความตึงเครียดดังกล่าวที่มีต่อตลาดการเงิน และเศรษฐกิจ ด้านภาคบริการที่โดยทั่วไปยังเติบโตได้ดีจะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะขยายตัวได้ดีขึ้นเล็กน้อยที่ 3.0-3.3%
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดทิศทางเศรษฐกิจแยกรายประเทศ โดยดาวน์โหลดเนื้อหาฉบับเต็มได้จากลิงค์ที่แนบมานี้ > 1H2020EconomicReview_Final.pdf