Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2020 : ญี่ปุ่น

Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2020 : ญี่ปุ่น

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา 

     เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 3/2019 ขยายตัว 0.4% QoQ sa (1.8% QoQ saar) ซึ่งเป็นการเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 จากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีการลงทุนขยายตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่เติบโตถึง 1.8% QoQ sa ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 0.5% QoQ sa ขณะที่ การส่งออกหดตัวจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน บวกกับอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

ด้านผลของการขึ้นภาษีบริโภคในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมานั้น  ส่งผลให้มีความผันผวนของการใช้จ่ายของประชาชนตามคาด คือ ยอดตัวเลขค้าปลีกในเดือนก.ย. ขยายตัวแรงแตะ 9.1% YoY จากการเร่งจับจ่ายก่อนการขึ้นภาษี และพลิกกลับลงมาหดตัว -7.1% YoY ในเดือนต.ค. (และ -2.1% YoY ในเดือนพ.ย.) สอดคล้องกับตัวเลข PMI ภาคบริการที่ลดลงมาต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนต.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี (ก่อนที่จะยืนเหนือ 50 เล็กน้อยในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ที่ 50.3 และ 50.6 ตามลำดับ) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากพายุไต้ฝุ่นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังเติบโตอย่างช้าๆ อยู่ในกรอบ 0.2-0.9% YoY ตั้งแต่ต้นปี 2019 ห่างจากเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BoJ ที่ 2.0%

ทิศทางเศรษฐกิจปี 2020

     เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2020 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปี 2019 ที่ 0.7% มาอยู่ที่ 0.4% โดยปัจจัยลบอย่าง นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และอุปสงค์โลกที่ซบเซา น่าจะกระทบการส่งออกของญี่ปุ่นต่อเนื่องจากปี 2019 ขณะที่การบริโภคในประเทศมีทิศทางชะลอตัวจากผลของการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Consumption Tax) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นที่ต้องติดตามคือ ระยะเวลาในการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนหลังจากนี้ แม้ผลอาจไม่รุนแรงเท่าการขึ้นภาษีครั้งก่อนในปี 2014 ที่ส่งผลกระทบให้การจับจ่ายใช้สอยในประเทศใช้เวลานานในการฟื้นตัว และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลลังเลและเลื่อนการปรับภาษีขึ้นในเวลาต่อมา 2 ครั้ง ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. ถึง 9 ส.ค. 2020 นั้น  น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศในไตรมาส 3 ได้เป็นอย่างดี แต่เรามองว่า จะเป็นเพียงผลบวกในระยะสั้นๆ เท่านั้น ในแง่ของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะทะลุเป้าหมาย 20 ล้านคนต่อปี

ด้านการลงทุนในปี 2020 เรามองว่า มีแนวโน้มชะลอตัวหลังจากผ่านจุดสูงสุดไปในช่วงการลงทุนก่อสร้างเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค แต่น่าจะได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 7 ล้านล้านเยน จากงบประมาณฉุกเฉิน 3 ปี (2018-2021)

BBLAM’s View 

     ติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้น Consumption Tax และความเสี่ยงต่างๆ ของโลกที่มักจะกดดันให้เยนแข็งค่า ด้านแนวทางด้านนโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อไป

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดทิศทางเศรษฐกิจแยกรายประเทศ โดยดาวน์โหลดเนื้อหาฉบับเต็มได้จากลิงค์ที่แนบมานี้ >   1H2020EconomicReview_Final.pdf