ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและทิศทางเศรษฐกิจในปี 2020
เศรษฐกิจไทยในปี 2019 เติบโตช้าลงต่อเนื่องจากปี 2018 ซึ่งเมื่อเราประเมินเศรษฐกิจไทยจากด้านอุปสงค์ (Expenditure Approach เป็นการวัดการขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย) จะพบว่าการขยายตัวของอุปสงค์ภายในอันได้แก่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนต่างขยายตัวช้าลง และหนุนเศรษฐกิจในสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับหลายไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ด้านอุปสงค์จากภายนอก ทั้งการส่งออก และการนำเข้าก็กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นผลให้ GDP ล่าสุดสะท้อนโมเมนตัมที่ชะลอลงในทุกองค์ประกอบ ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับการประเมินเศรษฐกิจไทยจากด้านการผลิต (Income Approach เป็นการวัดการขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านรายได้ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ) ก็พบว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรของไทยหดตัว (ทั้งคู่คิดเป็น 32%ของ GDP) ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเช่นโรงแรมและร้านอาหารขยายตัวได้ไม่เท่ากับในอดีต
สำหรับตัวเลขล่าสุด GDP ของไทยในไตรมาสที่ 3/2019 ขยายตัว 2.4%YoY ต่ากว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.7%YoY แต่เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 2.3%YoY
ในรายองค์ประกอบด้านการใช้จ่าย พบว่า การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อน ขณะที่การส่งออกสุทธิให้ผลบวกกับ GDP แต่เนื่องด้วย GDP ปีก่อนขยายตัวในเกณฑ์สูง (ไตรมาส3/2018 ขยายตัว 3.2% YoY) เป็นผลให้ GDP ล่าสุดอยู่ในอัตราต่ำกว่า 3.0%
ในรายองค์ประกอบด้านอุตสาหกรรม ภาคเกษตรฟื้นขึ้นได้จากไตรมาสก่อน (1.5% YoY vs prev -1.3% YoY) จากที่ราคาผัก ผลไม้ ข้าว หมู ไก่ขยับดีขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง (-1.5% YoY vs -0.2% YoY) จากผลกระทบเรื่อง Trade Tension สำหรับภาคธุรกิจในกลุ่มบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี เช่นกลุ่มร้านอาหารที่โต 6.6% YoY จากไตรมาสก่อนที่ 3.7% YoY
มองไปข้างหน้าเราคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายรอบด้านทั้งจาก 1) ภัยธรรมชาติที่คาดเดาได้ยาก (ยกตัวอย่างเช่นเมื่อต้นปี 2019 ประเทศไทยประสบภาวะภัยแล้ง ก่อนที่จะเกิดอุทกภัยในช่วงครึ่งหลังของปี) ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและสินค้าเกษตร 2) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างประเทศมีผลให้โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศต้องปิดตัวลงส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน ขณะเดียวกัน3) เศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลงก็มีส่วนฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เราจึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเป็น 2.5% สำหรับในปี 2019 และ 3.0% ในปี 2020 จากปีก่อนที่ขยายตัว 4.1%
BBLAM’s View
ติดตามกระบวนการพิจารณางบประมาณปี 2563 (FY2020) ของรัฐสภาในวาระ 2 และ 3 ในเดือนม.ค. ด้านนโยบายการเงินเราคาดว่าธปท.ไม่น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดทิศทางเศรษฐกิจแยกรายประเทศ โดยดาวน์โหลดเนื้อหาฉบับเต็มได้จากลิงค์ที่แนบมานี้ > 1H2020EconomicReview_Final.pdf