กองทุนบัวหลวง เผยความสำเร็จในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจด้านวางแผนทางการเงิน เพื่อให้คนไทย “อ่านออกเขียนได้ทางการเงิน” เป็นที่น่าพอใจตลอดระยะเวลา 2 ปีต่อเนื่อง โดยทีม ‘BF Knowledge Center’ ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ทางการเงินให้กับนักศึกษา ประชาชนทั่วไปและกลุ่มวัยเกษียณเพิ่มเติม ทั้งหัวเมืองหลักและหัวเมืองรองทั่วประเทศ โดยในปีนี้จะเดินหน้าปฏิบัติภารกิจสำคัญเป็นปีที่ 3 ในการขยายขอบเขตพื้นที่และใช้ช่องทางสื่อสารใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสานต่อพันธกิจขององค์กร “ทำให้ครอบครัวไทย มีความมั่นคงทางการเงิน” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยใส่ใจวางแผนทางการเงินและเข้าถึงการลงทุนผ่านกองทุนรวมให้มากขึ้น
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทีมงาน BF Knowledge Center คลังสมองที่สำคัญของกองทุนบัวหลวง ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจด้านการวางแผนการเงิน เพื่อให้คนไทย “อ่านออกเขียนได้ทางการเงิน” ผ่านงานเสวนาและกิจกรรม Investment Workshop เพื่อให้คำแนะนำด้านการลงทุน การออมและการลงทุนให้กับนักศึกษาและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นไปตามพันธกิจขององค์กรที่ว่า “ทำให้ครอบครัวไทย มีความมั่นคงทางการเงิน”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 นี้ ทีม BF Knowledge Center ยังคงทำงานในเชิงรุกด้านการให้ความรู้ต่อไป ทั้งพื้นที่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พร้อมทั้งขยายช่องทางในการให้ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงคนไทยครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ตามแผนงานจัดกิจกรรม Investment Workshop ได้แก่ ภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ และเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ อุดรธานี อุบลราชธานีและนครราชสีมา ภาคตะวันออก ที่ชลบุรี ส่วนภาคใต้ ที่สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง ปัตตานีและนครศรีธรรมราช
“ที่ผ่านมา ทีม BF Knowledge Center เดินหน้าปฏิบัติภารกิจในการสานต่อพันธกิจองค์กรอย่างเต็มที่ ด้วยการให้ความรู้คนไทยทั่วประเทศในรูปแบบคลิปวิดีโอและบทความ ผ่านช่องทางออนไลน์ของกองทุนบัวหลวง ทั้ง Website B-YouTube โดยกองทุนบัวหลวง BF Mobile Application ร่วมกับสื่อหลัก ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเวิร์คชอปในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรม Investment Workshop ในสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้รับการตอบรับดีมาก เพราะช่วยเตรียมพร้อมให้กับนักศึกษาในการวางแผนการเงินและการลงทุน ก่อนจบการศึกษาได้เป็นอย่างดี สำหรับปีนี้ กองทุนบัวหลวงก็จะทำหน้าที่นี้ต่อไป ผสานความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ๆ จัดกิจกรรมให้ความรู้พนักงานในองค์กร กลุ่มคนวัยเกษียณ รวมทั้งขยายช่องทางสื่อสารเพิ่มเติม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงความรู้ทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น” นายพีรพงศ์ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า สถิติล่าสุดของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) พบว่า จำนวนบัญชีกองทุนรวมทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 มีทั้งสิ้น 6.84 ล้านบัญชี คิดเป็น 6.78% ของจำนวนบัญชีเงินฝากธนาคารทั้งประเทศที่มีอยู่ 100.85 ล้านบัญชี ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดทำงานวิจัย “ส่องพฤติกรรมการออมของคนไทย ผ่านข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร กว่า 80 ล้านบัญชี จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเงินฝากรายบัญชีจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก” พร้อมนำเสนอข้อสรุปที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่กระตุ้นพฤติกรรมการออม ความตระหนักและความเข้าใจถึงความสำคัญของการออม โดยพบว่า คนไทยส่วนใหญ่กว่าครึ่ง (56.04%) ยังคงฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แทนการฝากเงินในบัญชีประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า อีกทั้งผู้ฝากบางกลุ่ม ยังคงเก็บเงินในปริมาณมากในบัญชีเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการขาดความตระหนักรู้ถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์การเงินอื่น ๆ หรือขาดความรู้ในการบริหารจัดการเงิน ดังนั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์การออมที่ตรงตามความต้องการทางการเงินของผู้ออมกลุ่มต่าง ๆ ประกอบกับการส่งเสริมความรู้ทางการบริหารจัดการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ผู้ฝาก ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมการออมที่มีประสิทธิภาพให้กับคนไทย
ดังนั้น การที่กองทุนบัวหลวงส่งทีม BF Knowledge Center ออกไปเดินสายทั่วประเทศ ทำให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการเงิน เพื่อลงทุนได้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการช่วยขยายฐานผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวมเพิ่มเติมได้ อันจะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับทำให้คนไทยมีความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามลำดับ
สำหรับ ผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลความรู้ทางการเงินจากทีม BF Knowledge Center เพิ่มเติม สามารถติดตามได้ใน Website หลักของกองทุนบัวหลวง www.bblam.co.th แอปพลิเคชัน BF Mobile Application รวมถึงช่องทางสื่อออนไลน์ และสื่อหลักทั่วไป เช่น หนังสือพิมพ์และวิทยุ เป็นต้น