กองทุนบัวหลวง ประกาศธีมการลงทุนปี 2563 “เครือข่ายครอบคลุมสร้างความแข็งแกร่ง บรรษัทแข็งแรงสร้างความยั่งยืน” ต่อยอดจากธีมการลงทุนในปีก่อน สะท้อนความเชื่อมั่นต่อธุรกิจที่รู้จักสร้างเครือข่ายสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งมีช่องทางเข้าถึงที่ครอบคลุมและใช้ฐานข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ตอบสนองความต้องการได้ตรงใจผู้บริโภค พร้อมเน้นย้ำความสำคัญในประเด็น ESG ที่เป็นแนวโน้มให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืน ทั้งเติบโตได้ดีในระยะยาว
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2555 กองทุนบัวหลวงจะกำหนดธีมการลงทุนที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ลงทุนให้ได้เข้าใจถึงแนวคิด ความเสี่ยงและโอกาสที่จะมีผลต่อการลงทุนในอนาคต
สำหรับธีมการลงทุนในปี 2563 คือ “เครือข่ายครอบคลุมสร้างความแข็งแกร่ง บรรษัทแข็งแรงสร้างความยั่งยืน” อันจะเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกกิจการเพื่อลงทุนในระยะยาว ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธีมการลงทุนของปีที่ผ่านมา ที่ว่า “รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์” (Logistics and Infrastructure Solutions)
เครือข่ายครอบคลุมสร้างความแข็งแกร่ง กองทุนบัวหลวงมองว่า ทุกวันนี้ เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ภาคธุรกิจต่างต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยจะเห็นว่า ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งสามารถแปลงโฉมธุรกิจดั้งเดิมไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ อินเตอร์เน็ต นับเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หรือ disrupt ต่ออุตสาหกรรมอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ใช่ว่าจะทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งในระยะยาวได้ง่าย เนื่องจากมีคู่แข่งใหม่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน แม้บริษัทเหล่านั้นจะใช้งบประมาณทางการตลาดจำนวนมาก ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะยืนหยัดอยู่ในตลาดได้อย่างมั่นคง จึงทำให้การวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของบริษัทต่างๆ เพื่อพิจารณาเข้าลงทุนเป็นสิ่งที่ท้าทายและทำได้ยากมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ในยุคที่ผู้บริโภคเชื่อมโยงการใช้ชีวิตกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา หรือที่เรียกกันว่า ‘Connected Consumer’ ธุรกิจที่มีเครือข่ายครอบคลุม คือ มีแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการอยู่จำนวนมาก พยายามเพิ่มเครือข่ายพันธมิตร เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายจะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจออนไลน์ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการรู้จักลูกค้ามากยิ่งขึ้นผ่านฐานข้อมูลต่างๆ ของผู้บริโภค อันเป็นอีกช่องทางสำคัญเพื่อสื่อสารกับลูกค้า เช่น การช้อปปิ้งออนไลน์ บริษัทสามารถรู้ได้ทันทีว่า มีคนสนใจค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรบ้าง แม้จะยังไม่เกิดธุรกรรมซื้อขายเลยด้วยซ้ำ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Physical Retail) ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลและลักษณะการใช้จ่ายของลูกค้า โดยจะทราบเพียงว่า ในพื้นที่นี้ มีสินค้าประเภทไหนขายดี
อย่างไรก็ดี การมีข้อมูลเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้ บริษัทต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าให้รอบด้าน ทั้งช่องทางการเข้าถึงที่ครบครันในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ จึงจะสามารถโน้มน้าวใจให้ผู้ใช้อยู่ในเครือข่ายให้ได้มากที่สุด โดยจะเห็นได้ว่า บางธุรกิจนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มีความฉลาดมาใช้ ซึ่งสามารถกระตุ้นการซื้อได้อย่างรวดเร็ว ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ ความถี่ในการเข้าใช้ระบบ หรือ traffic ที่มากขึ้น จะยิ่งทำให้แพลตฟอร์มนั้นๆ คึกคักและน่าสนใจ เช่น มีผู้ใช้เข้ามารีวิวสินค้าจำนวนมาก หรือผู้ขายอยากเข้ามาใช้บริการฝากขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ ก็จะช่วยยกระดับธุรกิจให้โดดเด่นเหนือคู่แข่งได้ เพราะการมีส่วนร่วมในลักษณะนี้ยากที่จะลอกเลียนแบบและแข่งขันได้ยาก สำหรับบริษัทที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่ง อาจต้องหาทางนำเสนอสิ่งที่แตกต่างเพื่อจับกลุ่มตลาดที่ต่างกันออกไป
เราจึงเห็นว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีออนไลน์ พยายามเพิ่มหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อนำเสนอบริการที่หลากหลาย อีกทั้งยังสามารถผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ทันที ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มเติมแล้ว ยังดึงดูดให้ผู้ใช้งานไม่หนีไปหาคู่แข่ง
ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ Alibaba (อาลีบาบา) และ Tencent (เทนเซ็นต์) ที่นำเสนอบริการมากมาย เพียงเข้าใช้บริการผ่านแอพพลิเคชันได้ครบ ทั้งซื้อสินค้า ชมภาพยนตร์ ฟังเพลง ท่องเที่ยว การเดินทาง เชื่อมโยงผ่าน Payment Application หรือแพลตฟอร์มการชำระเงิน ในบางครั้งธุรกิจก็ต้องยอมขาดทุนบ้าง เพื่อให้ภาพรวมการแข่งขันยังคงตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้โดยไม่แพ้คู่แข่ง ขณะที่ Amazon (อเมซอน) นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ของการให้บริการบนแพลตฟอร์มของตนเอง เช่น การเพิ่มบริการ Amazon Prime ให้บริการรองรับการใช้งานที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การบริการเป็นแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว หรือ one stop service เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าไม่อยากเปลี่ยนไปใช้บริการรายอื่นๆ ที่ยุ่งยาก หลายขั้นตอน
นายพีรพงศ์ กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มเห็นธุรกิจลักษณะนี้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มของธุรกิจดั้งเดิม เพื่อปรับตัวรับมือการแข่งขันที่ท้าทายมากขึ้นในอนาคต อันจะเห็นได้จากการปรับรูปแบบห้างสรรพสินค้า มาสู่การให้บริการแบบผสมผสาน ทั้งการขายหน้าร้าน (ออฟไลน์) และออนไลน์ ที่เรียกว่า Omni Channel เพื่ออุดช่องโหว่ในการจับจ่ายของผู้บริโภค ทั้งยกระดับความสามารถของธุรกิจค้าปลีกไปอีกขั้นหนึ่ง ขณะเดียวกัน ยังเริ่มนำฐานข้อมูลสมาชิกมาวิเคราะห์ พร้อมนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละบุคคล เพื่อดึงดูดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ จะเห็นได้จากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ อย่าง Lazada และ Shopee ที่มีแนวโน้มจะขยายช่องทางจำหน่ายสินค้า โดยหันมาเปิดธุรกิจแบบออฟไลน์ ผ่านการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจ หรือซื้อธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถรับสินค้าในช่องทางหน้าร้านได้ด้วย
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ปรับตัวแบบเห็นได้ชัด คือ ธุรกิจโฆษณาที่พยายามสร้างฐานข้อมูลของสื่อโฆษณาดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น การก้าวเข้าไปสู่บัตรเติมเงิน หรือป้ายโฆษณาที่มีตัวตรวจวัดปฎิกริยาของผู้ที่เดินผ่าน เป็นต้น จากปัญหาของสื่อโฆษณาดั้งเดิมหลายๆ ประเภท คือ การไม่มีข้อมูลของผู้บริโภคสื่อได้มากเพียงพอ จึงทำให้โฆษณาของสินค้าหลายชนิด ไม่ได้รับการส่งต่อไปยังผู้บริโภค ที่บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องการจะให้ได้รับ ในขณะที่ สื่อออนไลน์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมของผู้รับสื่อได้มากกว่า ดังนั้น สำหรับบริษัทที่มองการณ์ไกล ก็จะปรับปรุงข้อเสียเปรียบที่เคยมีนั้นๆ ให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างฐานข้อมูลที่จะช่วยให้สื่อประเภทดั้งเดิม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและเพิ่มผลตอบแทนให้ดีขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า บรรษัทแข็งแรงสร้างความยั่งยืน ก็เป็นอีกแนวโน้มที่กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะนอกจากขนาดของธุรกิจ (Size) และผลกระทบเครือข่าย (Network effects) ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ควรพิจารณากับการลงทุน เพื่อผลตอบแทนระยะยาว คือ ปัจจัยด้าน ESG อันได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ภาครัฐและสังคมตระหนักกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้นตามลำดับ เพราะธุรกิจที่แม้จะมีปัจจัยในเชิงธุรกิจที่ดี มีลูกค้าและยอดขายในอนาคตที่ชัดเจน แต่หากว่า ธุรกิจดังกล่าวทำให้สาธารณชนเกิดความ ‘เคลือบแคลงใจ’ ต่อประเด็นด้าน ESG แล้ว ก็อาจจะส่งผลให้แนวโน้มของธุรกิจไม่สดใสก็เป็นได้ แม้ว่า บริษัทจะสามารถควบคุมการดำเนินการได้ดีมาตลอดก็ตาม
“การลงทุนโดยให้ความสำคัญกับ ESG เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดย MSCI เคยจัดทำผลสำรวจพบว่า กิจการที่มีคะแนน ESG สูง จะให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนและเติบโตได้ดีในระยะยาว มากกว่าธุรกิจที่มีคะแนน ESG น้อย สำหรับในตลาดการลงทุนก็เช่นกัน เรามักจะพบว่า หุ้นของบริษัทในกลุ่มที่มีความสุ่มเสี่ยงกับประเด็นด้าน ESG มักจะถูกประเมินมูลค่าที่ลดลงเมื่อเทียบกับธุรกิจใกล้เคียงกัน ดังนั้น ถึงแม้บริษัทที่มีปัญหาด้าน ESG จะมีราคาหุ้นไม่แพง ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า บริษัทนั้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต” นายพีรพงศ์ กล่าว
กองทุนบัวหลวงกำหนดธีมการลงทุนเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ผู้ที่สนใจกองทุนของเรา เข้าใจและมองเห็นภาพว่า เรากำลังจะนำพาท่านไปในทิศทางใด หากว่า เข้าใจและเห็นด้วยกับแนวทางของเราแล้ว เราก็จะเดินทางไกลไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น