By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
สงครามการค้าจีนและสหรัฐจะจบแบบไหน ยังต้องรอคำตอบอยู่ แต่ระหว่างที่ศึกยังดำเนินไปเงียบๆ ย่อมมีผลกระทบทั่วโลก ซ้ำยังมีประเด็นอังกฤษจะตีจากยุโรป ซึ่งไม่รู้จะจบแบบไหน รวมถึงปัญหาในฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนจับตา และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ‘Bualuang Exclusive’ ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จัดงานสัมมนา “ส่องทิศทางการค้าต่างประเทศและเศรษฐกิจไทย 2562” ซึ่งช่วงเสวนาในหัวข้อ “การลงทุนไทยได้รับผลกระทบอย่างไรจากการค้าต่างประเทศ”
คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาช่วงนี้ ให้มุมมองที่น่าสนใจกับนักลงทุนไว้ว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตอยู่ แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยทั้งปีนี้ คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4.2% ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีก่อน อีกทั้งคาดว่า จะมีผลมาถึงในช่วงครึ่งปีแรกนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เลวร้ายในช่วงปลายปีก่อน ตลาดรับรู้ไปมากพอควรแล้ว ประกอบกับดัชนีตลาดหุ้นในปีที่ผ่านมา ปรับฐานไป 11% แต่ราคาหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กบางตัว ลดไปถึง 70-80% ดังนั้นเมื่อปรับลง ก็เป็นโอกาสของการดูราคาและมูลค่าหุ้นว่า สมเหตุสมผลหรือไม่ พร้อมดูศักยภาพการเติบโตของบริษัทด้วย
สำหรับปีนี้ กองทุนบัวหลวงมองว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC ทั้งยังเป็นการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วย ดังนั้น ก็เป็นโอกาสของการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการขยายโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และการสร้างเศรษฐกิจใหม่
“เรามองว่า เวลานี้เป็นวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ เพราะที่ผ่านมา เมกะโปรเจ็กส์ ไม่เกิดนานแล้ว ถ้าเราไม่ลงทุน อาจจะถูกประเทศพื่อนบ้านแซงหน้าได้ จึงจำเป็นต้องลงทุน EEC ให้เกิด เพื่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ดังนั้น จึงมองเป็นโอกาสการลงทุนในไทยปีนี้ และถ้าราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น จะมีผลให้กำลังซื้อประชาชน โดยเฉพาะต่างจังหวัดดีขึ้น การบริโภค ค้าปลีกก็จะฟื้นตัวได้” คุณพีรพงศ์ กล่าว
คุณพีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อดูอัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น หรือ P/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยขณะนี้อยู่ที่ 13-14 เท่า ถือว่า ราคาถูกกว่าอดีต และมูลค่าตลาดเวลานี้ ควรมีค่า P/E Ratio ที่ 15 เท่า แต่ตลาดหุ้นไทยกลับมี P/E Ratio ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในฐานะกองทุนที่ถือครองหุ้นระยะยาว คือ 5 ปีขึ้นไป จึงถือเป็นโอกาสดี แม้ปีนี้ตลาดหุ้นไม่ใช่ภาวะกระทิงมากมาย โดยภาพรวมบริษัทจดทะเบียนให้ผลตอบแทน 6-8% แต่บางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว อาจให้ผลตอบแทนเติบโตได้มากกว่า 10% ซึ่งกองทุนจะไปคัดสรรหุ้นประเภทนี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเริ่มที่ตลาดหุ้นจีน ว่า ช่วงที่สงครามการค้าเพิ่งเริ่มต้น ตลาดหุ้นจีนที่เคยเติบโตมาตั้งแต่ปี 2016-2017 ปรับตัวลดลงมา 25% ในปี 2018 หรือเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (ตลาดหุ้นขาลง) แต่การขายออกที่เกิดขึ้นเป็นการขายตามอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าจากปัจจัยพื้นฐาน
นอกจากนี้ตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะหุ้น A-Shares หรือหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซิ่นเจิ้น การซื้อขาย 80% มาจากนักลงทุนรายย่อย โดยปีที่ผ่านมา รายย่อยต่างเทขายออก แต่กลุ่มนักลงทุนสถาบันมีแรงซื้อเข้าไปอยู่ โดยเฉพาะหลังหุ้น A-Shares ของจีน กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่ถูกนำเข้าไปคำนวนใน MSCI Emerging Markets Index ด้วย เริ่มต้นกว่า 200 ตัว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันอย่างดี แทนที่จะมองเป็นพื้นที่การลงทุนทางเลือก ปรากฎว่า นักลงทุนสถาบันมองเป็นพื้นที่กระจายสัดส่วนการลงทุนที่จำเป็นต้องมี เพราะหุ้นจีนมีน้ำหนักในดัชนี MSCI Emerging Markets Index เพิ่ม
ปีนี้ คาดว่า จะมีหุ้น A-Shares ขนาดใหญ่ เข้ามาคำนวนในดัชนีอีก ซึ่งก็จะทำให้น้ำหนักในดัชนีเพิ่มอีก จากในปัจจุบัน น้ำหนักอยู่ที่ 0.7-0.8% จะเพิ่มถึง 4 เท่าตัวเป็น 3.6-3.7% ดังนั้น หากปีนี้หุ้น A-Shares เข้าไปคำนวนเพิ่มตามแผน ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. ก็คงมีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าไปซื้อหุ้นจีนเพิ่มอีก
นอกจากนี้ หากจะประเมินมูลค่าว่า หุ้นจีนแพงหรือไม่นั้น ปัจจุบันหุ้นจีนที่อยู่ในดัชนี MSCI All China Index มี P/E Ratio 11.8 เท่า ขณะที่อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในดัชนีอยู่ที่ 14% อัตราปันผล 2.8% ซึ่งหากเป็นแบบนี้ Forward P/E Ratio ปี 2019 จะอยู่ที่ 10 เท่า ถือว่าราคาถูก สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นจีนอยู่แล้วจึงไม่ใช่จังหวะขายออก
เมื่อพิจารณาทิศทางการไหลของเงินทุน พบว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มขยับขึ้นช้าลง คือขึ้นแค่ 1-2 ครั้ง กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมา มีผลต่อค่าเงินตลาดเกิดใหม่ ดังนั้น ก็คงจะมีเงินไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ เอเชียเพิ่มอีก เมื่อมองไปแล้วนักลงทุนประเภทกองทุนเอง ก็ไม่ใช่จังหวะขาย แต่ถือเป็นจังหวะของการสะสม ซื้อเพิ่ม หรือถ้าไม่มีก็พิจารณาซื้อหุ้นจีน
พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า กองทุนบัวหลวง มองการลงทุนระยะยาว ดังนั้นการออกกองทุนจะเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความสำเร็จระยะยาว
ยกตัวอย่าง กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (B-CARE) ที่ออกมาในปี 2008 ก็เผชิญกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์พอดี แต่เมื่อมองเมกะเทรนด์ เรื่องสุขภาพเห็นว่า มาแน่นอน เพราะทั่วโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย แม้ระหว่างทางจะเจอประเด็นต่างๆ แต่ดูแนวโน้มระยะยาว คนอายุยืนขึ้น วิวัฒนาการยารักษาโรคร้ายแรงมากขึ้น จึงเป็นโอกาสจากภาพระยะยาวที่ยังดี ในส่วนช่วงระยะเวลาสั้นๆ นั้น บริษัทขนาดเล็กและกลางจะถูกบริษัทใหญ่มาซื้อกิจการ ดังนั้นก็เป็นโอกาสที่ผู้จัดการกองทุนจะเข้าไปซื้อบริษัทเป้าหมายที่มีโอกาสถูกควบรวมกิจการ เพื่อรับพรีเมียม หรือเงินที่จ่ายเพิ่มเพื่อซื้อกิจการไป
ส่วนด้านเทคโนโลยี เราเชื่อว่า เทคโนโลยีที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลง (Disruption Technology) เช่น อุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet of Things : IoT) หุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไร้คนขับ เหล่านี้ก็ยังมาแรงอยู่ ขณะเดียวกันบริษัทที่กองทุนเข้าไปลงทุน ก็คงไม่ใช่บริษัทที่ไม่มีรายได้กลับมา แต่เน้นซื้อบริษัทที่สร้างรายได้กลับมาแล้ว โดยคัดเลือกบริษัทที่มูลค่ายังไม่แพง เพราะปรับลงมาแรง
คุณพีรพงศ์ กล่าวย้ำว่า กองทุนบัวหลวงออกกองทุน โดยเน้นการลงทุนระยะยาว 10 ปี ซึ่งระหว่างการลงทุน เราต้องเจอเรื่องนั้น เรื่องนี้ตลอดเวลา แม้จะจบประเด็นสงครามการค้า ก็คงมีเรื่องอื่นอีก ดังนั้น เราจึงควรยืนหยัดลงทุนอยู่ตลอดในทุกช่วงวัฎจักรเศรษฐกิจ หรือ Staying Invested Through All Market Cycles
สำหรับ เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในช่วงท้ายๆ ของวงจรเศรษฐกิจขาขึ้นแล้ว จึงต้องระมัดระวังภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หากต้องการลงทุนที่ปลอดภัยขึ้น ก็ให้เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งยังมีอีกมากที่ค่า P/E Ratio ไม่สูง แต่ทำกำไรสม่ำเสมอ ในกรณีที่นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงได้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มองว่าน่าสนใจลงทุน คือ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการบริโภค เช่น ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์
นอกจากนี้ ยังมีด้านท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้า คลังสินค้า นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกองทุนแนะนำของกองทุนบัวหลวง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้คือ กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล
หลังจากได้รับข้อมูลเหล่านี้ไปแล้ว ก็หวังว่า นักลงทุนจะไม่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นจนเกินไป ขอเพียงมีสติในการลงทุน มีเป้าหมายที่ชัดเจน และลงทุนในระยะยาว ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ในระหว่างทาง ความสำเร็จของเป้าหมายการลงทุนก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม