โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM
จากสถานการณ์ปัจจุบัน อาจทำให้นักลงทุนหลายคนกังวลใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นจีน เพราะราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงมาหลังไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ เรียกได้ว่าใครที่ลงทุนไปในช่วงที่ราคาของหุ้นจีนหลายๆ ตัวได้ปรับตัวขึ้นไปสูงสุด ในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ถ้าถือครองมาจนถึงทุกวันนี้
ก็น่าจะขาดทุนไปราวๆ 10 – 20% ซึ่งสาเหตุของการที่ราคาหุ้นจีนปรับตัวลดลง ก็มีที่มาที่ไปอยู่หลายปัจจัย
ไม่ว่าจะเป็นการที่นักลงทุนบางส่วนได้ทยอยขายคืนหุ้นจีนออกไป เพราะในช่วงที่ผ่านมาราคาของหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อนักลงทุนส่วนหนึ่งได้กำไรไปจนพอใจแล้ว ก็ทำการขายคืนหุ้นจีนออกไปเป็นธรรมดา
แต่อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญ นั่นก็คือ การที่รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุม และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และมีความพยายามที่จะป้องกันการผูกขาดทางการค้า ดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนปล่อยอิสระมากๆ เพราะต้องการให้เกิดการพัฒนาและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ราคาหุ้นจีนกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มาถึงจุดหนึ่ง รัฐบาลจีนก็เลือกที่จะเข้ามาควบคุมเพราะต้องการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล เศรษฐกิจ และชาติ ซึ่งสำหรับจีนแล้วคือ “เรื่องเดียวกัน”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ การที่รัฐบาลจีนลงดาบบริษัทเทคโนโลยีหลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็น Ant Financial, Meituan, DiDi Chuxing หรืออย่าง Alibaba ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) เป็นอันดับ 1 ในจีน ล่าสุดโดนปรับไปประมาณ 1 แสนล้านบาท ข้อหาผูกขาดทางธุรกิจ รวมถึงมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล และสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายนี้ เป็นการแสดงให้บริษัทเอกชนของจีนเห็นว่า รัฐบาลจีนเอาจริงในการควบคุมดูแล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนไม่ได้ต้องการที่จะปิดกั้นการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยี ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลจีนคาดหวังที่จะให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนเติบโตแซงหน้าสหรัฐอเมริกาให้ได้ด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นการเติบโตภายใต้กฎเกณฑ์ที่รัฐบาลจีนสามารถดูแลได้ ซึ่งรัฐบาลจีนเชื่อว่า จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจจีนได้ในระยะยาว เพราะถ้าให้เลือกระหว่างการเติบโตไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด กับก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเสถียรภาพ แน่นอนว่าจีนเลือกที่จะเป็นอย่างหลังมากกว่า
ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจีน หรือกองทุนรวมหุ้นจีน อาจจะต้องมองจีนแบบจีนจริงๆ และเน้นลงทุนระยะยาว ซึ่งระยะยาวที่ว่า อย่างน้อยๆ ก็น่าจะประมาณ 5 – 10 ปี โดยจะมีเรื่องของเทรนด์เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ของจีนที่กำหนดธีมไว้ว่า จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนด้วยพลังงานสะอาด (Clean Energy) โดยเชื่อว่าภายใน 10 ปีนี้ นักลงทุนจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นแล้ว เพราะปัจจุบันรัฐบาลจีนได้พยายามที่จะยกระดับ 3 ส่วน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การบริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์
ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตก็เน้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชิป (Semiconductor Chips) ไว้ใช้เอง ซึ่งในมุมหนึ่งก็เพื่อความมั่นคงด้านเทคโนโลยีด้วย เพราะถ้าสามารถผลิตได้เอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร (ควบคุม Supply Chain ได้ด้วยตัวเอง) ในส่วนของการการบริโภค ได้เน้นพัฒนาสินค้าให้มีความพรีเมียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในจีนที่มีจำนวนมหาศาล และสุดท้ายก็คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้น รวมถึงพยายามปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Automation) มากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาที่อาจจะเกิดการขาดแคลนแรงงานผลิตในอนาคต
ถ้าพิจารณาตามข้างต้นนี้ นักลงทุนจะเห็นได้ว่า ในระยะยาวจีนยังมีอนาคตที่สดใส ดังนั้น สำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อราคาหุ้นจีนในปัจจุบัน โดยส่วนตัวมองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนในการที่จะได้สะสมหุ้นจีนในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป แต่ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นจีน เหมาะสมสำหรับพอร์ตการลงทุนระยะยาวมากกว่า 5 ปีขึ้นไป และเนื่องจากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้น ผู้ลงทุนควรรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง ทนต่อความผันผวนขึ้นได้-ลงได้ และเข้าใจการลงทุนแบบจีนๆ โดยกองทุนบัวหลวงมีกองทุนหุ้นจีนให้เลือกลงทุนถึง 3 กองทุน ทั้งกองทุนเปิดทั่วไป และกองทุนลดหย่อนภาษี SSF และ RMF โดยแบ่งเป็น 2 สไตล์การลงทุน
สไตล์แรกเน้นลงทุนในหุ้นจีนได้ใน “ทุกตลาด” โดยกองทุนบัวหลวงมอบหมายให้ Allianz Global Investor Asia Pacific Limited เป็น Outsource Fund Manager ปัจจุบันนำส่งเงินลงทุนไปยัง 2 กองทุน ได้แก่ Allianz China A-Share และ Allianz All China Equity นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนของบัวหลวง ยังคัดเลือกหุ้นรายตัวเพื่อลงทุนได้เองด้วย โดยการลงทุนสไตล์นี้จัดทำขึ้นมา 2 กองทุนคือ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีนเพื่อการออม (B-CHINESSF) ซึ่งมีนโยบายจ่ายเงินปันผลทั้ง 2 กองทุน
อีกหนึ่งสไตล์การลงทุนคือ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีนเอแชร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-CHINAARMF) เน้นลงทุนใน Allianz China A-Share ซึ่งเป็นการเน้นลงทุนในตลาด “A-Share เซี่ยงไฮ้-เซินเจิ้น” โดยตลาด A-Share ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และปัจจุบันเริ่มมีความสัมพันธ์กับดัชนีตลาดหุ้นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ต่ำลง จึงเหมาะกับพอร์ตการลงทุนระยะยาว และสามารถใช้เป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างหุ้นที่น่าสนใจที่มีอยู่ในกองทุนหุ้นจีนทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ หุ้นของบริษัทแบตเตอรี่ไฟฟ้า ที่ใช้เป็นชิ้นส่วนในรถยนต์ไฟฟ้า EV โดยมีชื่อย่อในตลาดหุ้นจีนว่า CATL ซึ่งมีแต่ลูกค้ารายใหญ่ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็น BMW, Mercedes-Benz, Volkswagen, Tesla, Toyota และ Honda ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโอกาสเติบโตของธุรกิจจีนยังมีอีกมาก และยังมีอนาคตที่สดใสรออยู่
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุน ก็อยากจะให้เลือกประเภทของกองทุนรวมให้ตรงตามเป้าหมายว่า ต้องการลงทุนทั่วไป หรือต้องการลงทุนระยะยาว
เพื่อลดหย่อนภาษี ถ้าต้องการลดหย่อนภาษีและลงทุนได้ยาวประมาณ 10 ปี ก็เลือกลงทุนใน SSF หรือถ้าเป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณก็เลือกลงทุนใน RMF โดยการลงทุนในช่วงนี้ยังมีความผันผวนอยู่บ้าง จึงแนะนำให้ผู้ลงทุนทยอยลงทุน และอย่าลืม! ตรวจสอบสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของตัวเองด้วยว่า เน้นหุ้นต่างประเทศมากไปไหม? น้ำหนักในการลงทุนเอียงไปจีน หรือสหรัฐฯ มากไปหรือเปล่า? เพื่อให้พอร์ตลงทุนของเรามีการกระจายสัดส่วนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม