สรุปความสัมภาษณ์
เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
เราเริ่มจะได้ยินกันหนาหูขึ้นเรื่องแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 เพื่อรับมือเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกำลังฟื้นตัว ซึ่งนักลงทุนก็มีคำถามตามมาว่า ถ้าสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว การลงทุนจะต้องปรับกลยุทธ์อย่างไร โดยเฉพาะคนที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond ยังลงทุนได้หรือไม่
ก่อนอื่น ต้องอธิบายว่า High Yield Bond คือ หุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง เนื่องจากตราสารประเภทนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Investment grade) หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
หลายคนได้ยินแบบนี้อาจจะกังวลกับความเสี่ยง แต่จริงๆ แล้ว High Yield Bond มีมานานแล้ว ซึ่งในประเทศไทยอาจจะมีจำนวนไม่มาก แต่ในต่างประเทศมี High Yield Bond ออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยหลายบริษัทที่ออก High Yield Bond ในสหรัฐฯ อาจไม่ได้เป็นบริษัทที่มีสถานะการเงินไม่มั่นคง หลายบริษัทอาจมีแนวโน้มเติบโตดีเพียงแต่เป็นบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งใหม่หรืออาจเลือกระดมทุนโดยไม่ขอนำบริษัทไปจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรืออาจเป็นบริษัทลูกที่แตกออกมาจากบริษัทใหญ่ ซึ่งถ้ามองที่บริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือก็เป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ แต่เวลาที่พิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือแล้วมองไปที่ตัวบริษัทนั้นๆ โดยตรง
โดยรวมแล้ว บริษัทที่ออก High Yield Bond อาจจะไม่ใช่บริษัทที่มีความเสี่ยงสูงหรือลงทุนแล้วต้องลุ้นการผิดนัดชำระหนี้ตลอดเวลาก็ได้
ส่วนวิธีการลงทุนใน High Yield Bond ที่ดี ต่างจากการลงทุนในพันธบัตร โดยผู้ลงทุนจะต้องทำการเทรด มีการกระจายลงทุนหลายๆ บริษัท
ทั้งนี้ ผลตอบแทนของ High Yield Bond จะสูงกว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อยู่ในระดับ Investment Grade โดยผลตอบแทนรวมจะมาจาก 2 ส่วน คือ ดอกเบี้ยที่ได้จากตัวตราสารหนี้ซึ่งสูงกว่าตราสารหนี้ Investment Grade ส่วนที่ 2 คือส่วนต่างของราคา ซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดามาลงทุนเอง อาจไม่ง่ายดายนัก สิ่งที่ผู้ลงทุนม้กจะทำกันจึงเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งไปลงทุนใน High Yield Bond
กองทุนบัวหลวง ก็มีกองทุนเปิดบัวหลวงไฮยิลด์ (อันเฮดจ์) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ B-HY (UH) AI กับกองทุนเปิดบัวหลวงไฮยิลด์ (เฮดจ์ 75) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ B-HY (H75) AI ซึ่งจะไปลงทุนในกองทุนหลักคือ AXA World Funds – US High Yield Bonds ซึ่งเป็นกองทุนที่มีการบริหารจัดการกองทุน High Yield Bond เก่งมาก และมีการจัดการที่ดี คือ จะมีการซื้อขายและการวิเคราะห์ที่ดี อีกทั้งมีการกระจายความเสี่ยงลงทุนใน High Yield Bond จำนวนเยอะมาก โดยแต่ละรายการลงทุนในสัดส่วนต่ำมากๆ ดังนั้นเวลาที่ตราสารหนี้ที่ถืออยู่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ อาจจะยอมตัดขายไปเลย หรือยอมให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งมีผลกระทบต่อพอร์ตลงทุนรวมน้อยมาก
ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรจะลดลง กองทุนอาจขาดทุนได้ สิ่งที่ AXA ทำคือ บริหารจัดการโดยคัดเลือกตราสารที่อายุคงเหลือไม่ยาวมากนัก เป็นระดับที่มองแล้วว่าควบคุมได้ อีกทั้งเป็นระยะเวลาที่วิเคราะห์แล้วว่าธุรกิจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้น้อย
สำหรับปี 2022 ที่การลงทุนจะมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากปี 2021 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นหลายประเทศทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาสูง จากความคาดหวังปัญหาการติดเชื้อโควิดที่ลดลง ถือเป็นการลงทุนบนความคาดหวังล่วงหน้า
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง แต่มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้นการลงทุนในหุ้นปี 2022 ก็จะมีความผันผวน ความเสี่ยงมากขึ้น โอกาสที่การลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนสูงเหมือนกับ 1-2 ปีที่ผ่านมาที่มีสถานการณ์โควิดก็จะยากขึ้น ดังนั้น US High Yield Bonds จึงเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ
หากพิจารณาผลตอบแทนเฉลี่ย 20 ปีย้อนหลังของ High Yield Bond จะพบว่า โดยรวมให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ต่างๆ ที่อยู่ในระดับ Investment Grade โดยที่ไม่ได้มีปัญหาขาดทุนมากมายนัก ด้วยการจัดการที่ดี
อีกประเด็นคือในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวน บางช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก High Yield Bond กลับให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วยซ้ำ
โดยรวมแล้ว High Yield Bond เป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป แต่เมื่อเทียบกับหุ้นแล้วก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่า โดยมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับกึ่งกลางระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ แต่ในบางจังหวะอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นได้ ฉะนั้นในปี 2022 ซึ่งการจัดพอร์ตลงทุนมีความสำคัญมากขึ้น การพิจารณา High Yield Bond โดยใส่กองทุนที่ลงทุนใน High Yield Bond ไว้ในพอร์ต อาจจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสม