สรุปความสัมภาษณ์
เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
วันนี้จะขอมาชวนคุยเรื่องหลักทรัพย์ที่เหมาะสำหรับการจัดพอร์ตลงทุน
ที่ผ่านมาเวลาจัดพอร์ต จะเจอหลักทรัพย์ใหญ่ๆ 2 ประเภท คือ หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ก็คือ หุ้น หรือกองทุนหุ้น หรืออาจรวมตราสารทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น ทองคำ ไว้ด้วย ส่วนอีกกลุ่มก็จะเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือมีความปลอดภัยสูงกว่า เช่น ตราสารหนี้ต่างๆ เงินฝากธนาคาร พันธบัตร หรือสลากออมสิน
แต่จริงๆ ในเรื่องการลงทุน การทำ Asset Allocation หรือการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน ไม่ได้มีหลักทรัพย์เพียง 2 ประเภทเท่านั้น ยังมีหลักทรัพย์อีกแบบก็คือ หลักทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ ซึ่งได้อธิบายไปแล้วว่าอาจจะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงได้ ส่วนอีกประเภทก็เป็นหลักทรัพย์ทางเลือกที่มองว่าอาจจะไม่ได้มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นเท่าไหร่ คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือว่า ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งมีลักษณะของการเก็บกินค่าเช่า มีรายได้จากค่าเช่าหรือค่าบริการที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันธุรกิจก็มีความหวือหวาต่ำ โดยรวมจึงมองว่าเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ เวลาทำ Asset Allocation
ในฝั่งของหุ้นเอง นอกจากกลุ่มหุ้นหรือ sector ซึ่งมีความผันผวนสูง และอาจจะมีความเสี่ยงมาก ที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจและรู้จักธรรมชาติของกลุ่มนั้น ก็ยังมีกิจการอีกประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ากิจการทั่วๆ ไป ในแง่ความหวือหวาของการทำธุรกิจ เช่น บริษัทที่ให้บริการขายพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็น มีลูกค้าค่อนข้างแน่นอน มีการทำสัญญา ธุรกิจก็ไม่ได้หวือหวามากมาย เราอาจจะเรียกว่าเป็นกลุ่มหุ้นแบบ defensive stock รูปแบบหนึ่ง คือ หุ้นที่มีความผันผวนต่ำ
หรืออาจจะเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะมีการให้บริการลูกค้าค่อนข้างแน่นอน ความหวือหวาของธุรกิจไม่มากมาย ความผันผวนของราคาหุ้นก็จะไม่มากตามไปด้วย ถือเป็นหุ้นอีกประเภทที่สามารถจัดเขัามาอยู่ในพอร์ตลงทุน เพื่อลดความผันผวนหรือความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมได้ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นหลักทรัพย์หนึ่งที่แนะนำ ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน มีความไม่แน่นอนสูง การลงทุนในหุ้นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ จะน่าสนใจ ช่วยให้พอร์ตลงทุนมีความมั่นคงขึ้นได้
หลักทรัพย์อีกประเภทที่ขอพูดถึงคือฝั่งตราสารหนี้ โดยหลายคนมักจะเข้าใจว่า ตราสารหนี้เป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนน้อยลงมาหน่อย แต่จะทำให้พอร์ตลงทุนมีความสมดุลมากขึ้น หากใส่เงินลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอีกนิด ก็จะทำให้พอร์ตลงทุนมีความเสี่ยงโดยรวมลดลงไป
แต่ก็ยังมีตราสารหนี้อีกประเภทที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในจังหวะเวลาที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเช่นปัจจุบัน คือ ตราสารหนี้ประเภท High Yield ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ทั่วไป แต่ให้ผลตอบแทนโดยรวมดีกว่าตราสารหนี้ทั่วไปเช่นกัน หากดูข้อมูลย้อนหลังเรื่องราคาและความผันผวน จะพบว่า ตราสารหนี้ High Yield จะมีความผันผวนมากกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ขณะเดียวกันก็มีความผันผวนต่ำกว่าหุ้น และให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนใน 2 รูปแบบ คือ เงินปันผล และส่วนต่างของราคา
หากเป็นการลงทุนใน High Yield ไม่แนะนำให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนเอง เนื่องจากตราสารหนี้ประเภท High Yield มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ซึ่งในประเทศไทยมีทางเลือกไม่มากเท่าไหร่ และไม่ค่อยมีสภาพคล่องมากนัก โดยส่วนใหญ่นักลงทุนที่เข้าไปซื้อ ก็จะต้องถือครองและลุ้นว่าครบกำหนดแล้วจะได้รับเงินคืนหรือไม่ แต่ว่าผลตอบแทนและอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศออกมาก็จะจูงใจนักลงทุน
BBLAM ขอแนะนำให้นักลงทุนลองพิจารณาเข้าไปลงทุนใน High Yield โดยเฉพาะผ่านกองทุนที่ไปลงทุนใน High Yield ของสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีตราสารประเภท High Yield ให้เลือกเยอะมาก และเวลาผู้จัดการกองทุนลงทุน ก็ไม่ได้ลงทุนผ่าน High Yield เพียงไม่กี่ตัว แต่จะมีการกระจายการลงทุน High Yield เยอะมาก ทำให้พอร์ตมีการกระจายการลงทุนที่ดี รักษาสมดุลได้ดี ไม่ต้องกังวลว่าเวลามีเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ (default) หรือว่า ราคาของ High Yield บางตัวตกลงไปมาก หรือมีปัญหา แล้วจะทำให้พอร์ตโดยรวมได้รับผลกระทบมากมาย เพราะกองทุน High Yield กระจายไปลงทุนใน High Yield หลายร้อยตัว ซึ่งเป็นข้อดี
โดยเฉพาะถ้าผู้จัดการกองทุนที่มีความชำนาญในการคัดเลือกหรือพิจารณา High Yield ก็จะทำให้พอร์ตโดยรวมของ High Yield ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีกว่าตราสารหนี้ทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่ระหว่างทางลงทุนก็ต้องยอมรับความหวือหวาของความผันผวนของราคาด้วย
โดยรวมแล้ว หากเราจะจัดพอร์ตลงทุน แล้วมองว่า พอร์ตในส่วนตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนต่ำมาก การจัดสรรเงินบางส่วนมาลงทุนใน High Yield ก็อาจจะทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมดูดีขึ้นได้ โดยที่ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย