BBLAM Weekly Investment Insights 18 – 22 กรกฎาคม 2022

BBLAM Weekly Investment Insights 18 – 22 กรกฎาคม 2022

INVESTMENT STRATEGY

กลยุทธ์การลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง มองว่า อาจจะใช้ Barbell strategy โดยด้านหนึ่ง ลงทุนในสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย ทนทานต่อเงินเฟ้อ หรือผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อีกด้านหนึ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มเติบโตอยู่ สอดคล้องกับเทรนด์ระยะยาว ซึ่งราคาปรับลดลงมาอยู่ในระดับน่าสนใจ โดย B-SELECT ในไตรมาสที่ 3 BBLAM แนะนำให้ยังคงจัดพอร์ตสู้เงินเฟ้อผ่านกองทุน B-GLOB-INFRA และเพิ่มโอกาสลงทุนในหุ้นจีนผ่านกองทุน B-CHINE-EQ สำหรับท่านที่หาโอกาสลงทุนกองทุน RMF/SSF สามารถเข้าทยอยสะสมหุ้นธีมเทคโนโลยี ได้แก่ B-INNOTECHRMF / B-INNOTECHSSF และธีมดูแลโลก ได้แก่ B-SIPRMF/B-SIPSSF

B-SELECT จาก BBLAM นำเสนอมุมมองทางกลยุทธ์ลงทุนรายไตรมาส รวมถึงกองทุนรวมที่น่าสนใจ จาก BBLAM ที่สอดคล้องไปกับสภาวะลงทุนในอนาคต โดยรอบนี้จะเป็น B-SELECT ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2022

คุณศิวกร มิตรสันติสุข CFA®  ทีม Investment Strategy จาก BBLAM เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลัง การลงทุน ยังมีความเสี่ยง โดยมองว่านักลงทุนอาจจะต้องติดตาม ได้แก่

  • ประเด็นแรก คือ เรื่องของตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลก ที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านเงินเฟ้อในสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัวลงภายในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ขึ้นกับความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงาน อีกด้านหนึ่งเงินเฟ้อมาจากแรงกดดันจากราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเมือง ที่สำคัญยิ่งเงินเฟ้อค้างสูงยาวนาน ก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในความคิดผู้บริโภค อย่างล่าสุด ผลสำรวจอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวของผู้บริโภค จาก University of Michigan ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% จากระดับ 3% ถ้าตัวเลขเงินเฟ้อในใจผู้บริโภคไม่ปรับตัวลดลง ตรงนี้ก็อาจจะเป็นปัญหา เพราะจะกดดันให้ธนาคารกลางต้องใช้ยาแรง โดยอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยให้รุนแรงกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
  • ประเด็นการดำเนินนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางต่างๆ ยังคงมีทิศทางที่ตึงตัว ตั้งแต่ต้นปีมา ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นแล้ว กว่า 1.5% และจาก Dot Plot ล่าสุด ก็ระบุว่า ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ น่าจะปรับขึ้นอีกประมาณ 1.5% ภายในสิ้นปีนี้ และจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเล็กน้อยในปี 2023 ก่อนที่จะปรับลดลงในปีถัดไป ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของ ยุโรป หรือ ECB ก็คาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%ในการประชุมเดือนกรกฎาคม ซึ่งบ่งชี้ว่า การดำเนินนโยบายในประเทศหลักๆ ยังมีทิศทางที่ตึงตัวตลอดช่วงครึ่งปีหลังนี้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อต่อตลาดการเงินของการปรับขึ้นดอกเบี้ย น่าจะเริ่มลดน้อยลงบ้างแล้ว เพราะนักวิเคราะห์ได้ Priced in การขึ้นดอกเบี้ยไป จนถึงระดับเกือบ 3.5% ในปีหน้า จากดอกเบี้ยปัจจุบันที่ประมาณ 1.7% ซึ่งตรงนี้ก็บ่งชี้ว่า โอกาสที่จะเกิดแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยงรุนแรง อย่างที่เราเจอในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะลดลงไปพอสมควร
  • การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากเงินเฟ้อ และการใช้นโยบายทางการเงินที่ตึงตัว อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เริ่มเห็นสัญญาณการปรับลดประมาณการของการเติบโตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด IMF ก็เพิ่งได้ปรับประมาณการการเติบโต GDP ของสหรัฐฯ ลงเหลือ 2.9% ในปีนี้ จาก 3.7% ที่คาดไว้เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลของการปรับลดลง ว่า นโยบายการเงินที่ตึงตัวไปทำให้ความต้องการบริโภคปรับลดลง อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ ล่าสุดก็ออกมาต่ำสุดๆ และต่ำกว่าช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำมันในช่วงปี 1970 เสียอีก  ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง และถ้าไปดูสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย อย่าง Inverted Yield Curve อายุ 2 ปี และ 10 ปี ก็เริ่มบ่งชี้แล้วว่า โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอย ในอีก 12 เดือนข้างหน้ามีอยู่ถึง 40% เลยทีเดียว

สรุปโดยภาพรวม การลงทุนช่วงครึ่งปีหลังยังต้องเจอความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อที่อาจจะมากกว่าคาด ในขณะเดียวกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจก็มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าคาด

 

อ่านเพิ่มเติมทั้งหมด ได้ที่นี่  https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/bblam-investment-insights/18-22-2022-1