ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ Bank of Japan (BoJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraeasy Monetary Policy) ในการประชุมวันนี้ ทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการ Yield Curve Control ท่ามกลางเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเยนอ่อนค่าแรงทะลุ 140 เยนต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ แต่ยิ่งทำให้นโยบายการเงินของญี่ปุ่นสวนทางกับธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกที่ต่างพากันใช้นโยบายคุมเข้มมากขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเร่งตัวขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว สำหรับในเดือนส.ค. เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด
และเป็นเงินเฟ้อเป้าหมายของ BoJ เร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 31 ปีที่ 2.8% YoY จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ราคาไฟฟ้า และอาหารแปรรูป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเป็น 3.0% YoY จาก 2.6% ในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์หลังการประชุม นาย Haruhiko Kuroda ผู้ว่าฯ BoJ ระบุว่า การอ่อนค่าของเยนอย่างรวดเร็วทำให้บริษัทเอกชนมีความยากลำบากในการวางแผนธุรกิจและต้องเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งนับเป็นผลเสียต่อ
เศรษฐกิจญี่ปุ่น พร้อมกับกล่าวว่า จะร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแล และติดตามผลกระทบของการอ่อนค่าของเยนต่อเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
ในด้านเงินเฟ้อ นาย Kuroda มองว่าจะชะลอลงไปต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% ในปีหน้า ดังนั้น เราจึงคาดว่า BoJ จะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเห็นค่าจ้างและระดับราคาสูงขึ้นอย่างยั่งยืน และน่าจะ
เป็นแบบนี้ไปตลอดจนสิ้นสุดวาระของนาย Kuroda ในเดือนเม.ย. 2023 เป็นอย่างน้อย
Implications for markets
เมื่อความแตกต่างระหว่างนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังต่างกันสุดขั้วเช่นนี้ โดยเมื่อวานนี้ Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75bps สู่ระดับ 3.00-3.25% และยังส่งสัญญาณว่า จะเดินหน้าปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อไปในปี 2023 ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ปรับตัวกว้างขึ้น เงินเยนจึงอ่อนค่าลงอย่างหนักทะลุแนวต้านสำคัญที่ระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ฯ ไปเมื่อเช้าที่ผ่านมา ด้านดัชนี Nikkei 225 เปิดตลาดลดลงไปต่ำกว่า 27,000 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือน ตามตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงจากทิศทางนโยบายของ Fed แต่กลับมาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงบ่ายหลังการประชุม BoJ ซึ่งถ้าเราพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเยนและตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะพบว่าค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามาอย่างมากในช่วง 2 เดือนนี้ ไม่ได้หนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากนัก
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเยนอย่างรวดเร็วทำให้ตลาดเพิ่มความคาดหวังว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและ/หรือ BoJ จะต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยในช่วงบ่ายของวันเดียวกันกับการประชุม BoJ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงเพื่อลดการอ่อนค่าของเยนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 โดยเป็นการแทรกแซงโดยตรงผ่านการนำดอลลาร์ฯ ออกมาขาย และซื้อเยนในตลาดเงิน ส่งผลให้เยนแข็งค่าลงมาอย่างรวดเร็วราว 3% จนต่ำกว่า 142 เยนต่อดอลลาร์ฯ ด้านการแทรกแซงจาก BoJ เรามองว่า BoJ จะยังคงยึดมั่นต่อเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะกลางเป็นหลักมากกว่าแค่ค่าเงินเยน รวมทั้งแม้การเปลี่ยนทิศทางของ BoJ มาใช้นโยบายตึงตัวมากขึ้นอาจช่วยให้เยนแข็งค่าได้ แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจชะลอตัวรุนแรงได้เช่นเดียวกันจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากเยนไม่ได้อ่อนค่าจนส่งผลต่อเศรษฐกิจรุนแรง เราคาดว่า BoJ คงจะไม่ปรับนโยบายอะไร แม้ในระยะสั้นเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมาก