BBLAM Weekly Investment Insights 30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2023

BBLAM Weekly Investment Insights 30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2023

2023 – The Rise of Asia

INVESTMENT STRATEGY

By BBLAM

“จีนช่วงนี้วิ่งแรง” แต่หลายท่านที่มีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นจีน ต่างก็ระวังตัวกันพอสมควร สัปดาห์นี้ คุณมทินา วัชรวราทร CFA, Head of Investment Strategy, BBLAM มาชวนนักลงทุนมาดูกันว่า รอบนี้จีนเป็น “Bull Market หรือยัง และจะเป็นได้อีกแค่ไหน”

BBLAM แนะนำกองทุน

กองทุนลงทุนเอเชีย : B-ASIA, B-CHINE-EQ หรือกองทุนลดหย่อนภาษี ได้แก่ B-ASIARMF, B-CHINAARMF และ B-ASIASSFB-CHINESSF

Market & Economy

EUROPE

By BBLAM

“เตรียมรับมือความผันผวนตลอดทั้งปี และวิกฤตพลังงานอาจลากยาวไปถึง 2024”  

เศรษฐกิจปี 2022 เติบโตดีกว่าคาด แต่ปีนี้ยังมีพายุลูกใหญ่รออยู่

เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตในช่วงสามไตรมาสแรกของปี โดยในไตรมาส 3/2022 GDP ขยายตัว 0.3% QoQ จากที่ตลาดคาดว่าจะเริ่มติดลบในไตรมาส 3/2022 จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งการเติบโตที่ดีกว่าคาดนี้มาจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการในช่วงฤดูท่องเที่ยว แม้จะเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาส 2/2022 ก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายประเทศ พบว่า GDP ยูโรโซนได้อานิสงส์จากการเติบโตของ GDP ของเยอรมนีเป็นหลักที่ขยายตัวถึง 0.4% QoQ สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว หนุนโดยการบริโภคภาคเอกชนและมาตรการลดทอนผลกระทบด้านพลังงานของรัฐบาล ประกอบกับ GDP ของฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนต่างก็ยังขยายตัวได้ ทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนสามารถหลีกเลี่ยงการเกิด Technical Recession ในปีที่ผ่านมาไปได้ อย่างไรก็ตามในปี 2023 BBLAM มองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังมีโอกาสที่จะเกิด Technical Recession เนื่องจากเราคาดว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/2022 นี้ (QoQ) ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับเงินเฟ้อที่ทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยเครื่องชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจรายเดือนได้อ่อนแอลงอย่างมากและต่อเนื่อง ทั้งดัชนี Composite PMI ที่อยู่ในโซนหดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด) และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สำหรับทั้งปี 2022  BBLAM ประเมินว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวได้ 3.4% ก่อนจะเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัยในปี 2023 และชะลอตัวลงมาเป็น 0.5%

ด้านอัตราเงินเฟ้อยังทำ New High ต่อเนื่องมาตั้งแต่ครึ่งปีหลังปี 2021 แต่เริ่มเห็นตัวเลขที่ชะลอลงมาในช่วงท้ายปีจากการปรับลดลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ ที่น่าจับตาคือราคาอาหารยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนความหนืดของเงินเฟ้อในอนาคต ในระยะข้างหน้า เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงโน้มไปทางด้านสูงและเป็นวงกว้างมากขึ้น จากทั้งวิกฤตพลังงาน การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และการอ่อนค่าของยูโร รวมถึงมาตรการทางการคลัง โดยการกลับเข้าสู่เงินเฟ้อเป้าหมายของ ECB 2% อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่เราเคยคาดไว้

จับตาแผนการลดงบดุลของ ECB แต่คาดว่าจะทยอยลดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง

ด้านนโยบายการเงินยังมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นต่อเนื่องเพื่อชะลอเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยคาดว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 และทำให้ระดับ Terminal rate (Deposit Facility Rate) อยู่ในช่วง 2.0-3.0%  สิ่งที่น่าจับตามองหลังการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายคือ แนวทางการลดขนาดงบดุล หรือ QT โดยที่ผ่านมา ECB ได้มีการส่งสัญญาณว่าจะเปิดเผยแนวทางการทำ QT ในการประชุมเดือนธันวาคม และตลาดคาดว่าจะเริ่มต้นลดจริงในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 หลังจากที่ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ECB ได้ทำการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการ TLTRO-III ซึ่งเป็นมาตรการที่ ECB ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ต่อในช่วงวิกฤต COVID-19) ทั้งการปรับดอกเบี้ยขึ้น และเสนอวันชำระเงินคืนก่อนกำหนดได้โดยสมัครใจอีกด้วย โดยจะเป็นอีกแรงหนุนในการลดขนาดงบดุล สำหรับการลดงบดุลในปีนี้ BBLAM มองว่าน่าจะเป็นการปรับแผนการซื้อคืนพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุ (Reinvestment) ที่เข้าซื้อผ่านมาตรการ Asset Purchase Program (APP) และจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้สภาพคล่องตึงตัวมากเกินไปในช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว

รัฐบาลเตรียมอัดฉีดเงินช่วยเหลือรับมือเศรษฐกิจถดถอย

ในปี 2022 การขาดดุลทางการคลังของยูโรโซนปรับลดลงจากปี 2021 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีกว่าคาดและการใช้จ่ายภาครัฐสำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ทยอยครบกำหนด อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วหลังรัสเซียลดการส่งก๊าซอย่างต่อเนื่อง และหยุดทำการส่งก๊าซบางส่วน ทำให้รัฐบาลต่างๆ ในยูโรโซนต้องจัดสรรงบประมาณมากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาราคาสินค้าต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงทั้งในส่วนของภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ทำให้การขาดดุลการคลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้เมื่อช่วงต้นปี สำหรับในปี 2023 BBLAM คาดว่า การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2022 เนื่องจากเศรษฐกิจมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ Technical Recession สูง ทำให้รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น กระนั้นการขาดดุลทางการคลัง โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงอย่างอิตาลี และสเปน อาจจะไม่ได้ขาดดุลมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟู EU Recovery Fund ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดทางด้านการคลังลงได้บ้าง

แม้จะมีก๊าซธรรมชาติใช้เพียงพอในฤดูหนาวปีนี้ แต่ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่าคือฤดูหนาวถัดไป

ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2023 คือ ปัญหาด้านอุปทานของก๊าซธรรมชาติ โดยหากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย ยูเครน และชาติตะวันตกมีมากขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่ง ณ ระดับปัจจุบัน แม้จะลดลงมาจากจุดพีคแล้วก็ตาม แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงอยู่ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซจากระดับปัจจุบันย่อมส่งผลกระทบไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และตลาดแรงงาน นอกจากนี้ การที่ราคาก๊าซปรับเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจยังมาจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องยาวนานกว่าคาด เนื่องจากราคาสินค้าในกลุ่มอื่นนอกจากพลังงานเริ่มมีการปรับขึ้นไปแล้ว และการจะปรับลดลงมาไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค และทำให้นโยบายการเงินต้องเข้มงวดต่อเนื่อง

อ่านรายบะเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/bblam-investment-insights/30-3-2566