โฆษก IMF ชี้เฟดทำถูกต้องหลังลดดอกเบี้ย 0.25% ขณะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่แน่นอนสูง

โฆษก IMF ชี้เฟดทำถูกต้องหลังลดดอกเบี้ย 0.25% ขณะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่แน่นอนสูง

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า จูลี โคแซค ( Julie Kozack) โฆษกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันพุธที่ผ่านมา และการปรับมุมมองอย่างระมัดระวังมากขึ้นนั้น ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูง

โคแซค กล่าวในการแถลงข่าวว่า “ข้อมูลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังคงชะลอตัว ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย แต่ยังคงมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ดังนั้น ด้วยข้อมูลดังกล่าว เราจึงเห็นว่า การดำเนินการของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งนี้ จึงมีความเหมาะสม”

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า กระบวนการลดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้พิสูจน์เห็นให้แล้วว่ามีผลกระทบต่อการจ้างงานน้อยกว่าที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ซึ่ง IMF คาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่เฟดให้ความสำคัญ จะสิ้นสุดปี 2024 ที่ระดับต่ำกว่า 3% เล็กน้อย และมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% ของเฟดต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน IMF ยังได้ระบุว่า การดำเนินการของ BOJ นั้นมีความเหมาะสม ภายหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม แต่ส่งสัญญาณเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับระยะเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยจะรอดูแผนเศรษฐกิจและการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์ โดย IMF แนะนำให้ BOJ ดำเนินนโยบายทางการเงินที่อิงจากข้อมูลเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงพยายามปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติและสร้างความมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายโดยไม่หยุดดชะงัก”

อย่างไรก็ตาม โคแซค ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการของทรัมป์ในการตั้งคลังสำรองบิตคอยน์เชิงกลยุทธ์ โดยกล่าวว่า IMF จะประเมินนโยบายของทรัมป์อย่างเต็มที่ เมื่อมีการนำนโยบายไปปฏิบัติ หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนม.ค.

ขณะเดียวกัน โคแซค ระบุว่า ข้อตกลงเงินกู้มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ IMF กับเอลซัลวาดอร์ในสัปดาห์นี้ ซึ่งกำหนดให้เอลซัลวาดอร์ ต้องลดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์ในฝั่งรัฐบาลลง ซึ่งโคแซคกล่าวว่า IMF มองว่า สินทรัพย์กลุ่มคริปโทฯ มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพและความถูกต้องสมบูรณ์ และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยประเทศต่าง ๆ ควรมีกรอบนโยบายเพื่อจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้

ที่มา: รอยเตอร์