อินเดอร์มิท กิลล์ (Indermit Gill) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการค้าที่พุ่งสูงขึ้น กำลังซ้ำเติมปัญหาหนี้สินและการเติบโตในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่ชะลอตัว ด้านนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วลงอย่างรวดเร็ว และลดลงเล็กน้อยสำหรับประเทศกำลังพัฒนา หลังเผชิญมาตรการภาษีของสหรัฐฯ หลายระลอก
ในการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ในกรุงวอชิงตันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในรอบศตวรรษ และการใช้มาตรการตอบโต้จากจีน สหภาพยุโรป แคนาดา และประเทศอื่นๆ กลายเป็นประเด็นสำคัญในการหารือ
ก่อนหน้านี้ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จีน และประเทศส่วนใหญ่ พร้อมเตือนว่า ความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า การเติบโตทั่วโลกในปี 2025 จะอยู่ที่ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ ธนาคารโลก จะเผยแพร่คาดการณ์เศรษฐกิจฉบับใหม่ในเดือนมิ.ย. แต่กิลล์ กล่าวว่า ฉันทามติของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ต่างปรับลดคาดการณ์การเติบโตและการค้าอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ ดัชนีความไม่แน่นอนที่เคยอยู่ในระดับสูงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน ก็ปรับตัวพุ่งขึ้น หลังการประกาศกำแพงภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อวันที่ 2 เม.ย.
กิลล์ ยังระบุว่า วิกฤตครั้งนี้ จะยิ่งกดดันการเติบโตของตลาดเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับประมาณ 6% เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน โดยการค้าโลกคาดว่า จะเติบโตเพียง 1.5% เท่านั้น ต่ำกว่าการเติบโตที่ระดับ 8% ในช่วงปี 2000
พร้อมระบุว่า ระดับหนี้ที่สูงในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของ 150 ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2024 และอาจเพิ่มขึ้นอีกหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว “ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอลง การค้าชะลอลง ประเทศต่างๆ จะเจอกับความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น รวมถึงประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย”
ทั้งนี้ การชำระดอกเบี้ยสุทธิเมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า ประเทศใช้เงินไปกับการชำระหนี้มากเท่าใด ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 12% สำหรับตลาดเกิดใหม่ เทียบกับ 7% ในปี 2014 และกลับไปสู่ระดับที่เคยเห็นในช่วงทศวรรษ 1990 สำหรับประเทศยากจน โดยตัวเลขนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงถึง 20% ของ GDP แล้ว เทียบกับ 10% ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งหมายความว่าประเทศต่างๆ ต้องลดการใช้จ่ายในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ และโครงการอื่นๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาลง
ที่มา Reuters, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย