ธนาคารกรุงเทพ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2018 กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) โดยระบุว่า ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 9,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2017 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 17,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.33% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมี 13,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1%
สำหรับสาเหตุหลักที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาจาก กำไรสุทธิในธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมี 13,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 42.8%
ทั้งนี้ สิ้นเดือน มิ.ย. 2018 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 2,065,487 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% จากสิ้นปี 2017 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.5% เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ที่ 147,164 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนและกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามหลักการสำรองด้วยความระมัดระวัง
ทางด้านเงินกองทุน หากนับกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2018 รวมเข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 18% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ อยู่ที่ 16.5% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อย อยู่ในระดับ 16.5% ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด สำหรับส่วนของเจ้าของส่วนที่เป็นของธนาคาร ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2018 มีจำนวน 399,850 ล้านบาท มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 209.47 บาทต่อหุ้น
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังเปิดเผยมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2018 ว่ายังเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี รวมถึงเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นจากทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน
ด้านการบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากครัวเรือนนอกภาคเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงที่รายได้ขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของภาคการส่งออก และเริ่มมีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต กอปรกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน อีกทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกหลายด้าน เช่น ผลกระทบจากการตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจสำคัญ และความผันผวนในตลาดการเงินตามการเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยและค่าเงิน
จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้ธนาคารยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน