เรื่องต้องรู้ กับเงินชดเชยเมื่อว่างงาน
โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
Grab Food, Grab bike, Kerry, Food Panda หลากหลายธุรกิจที่เติบโตและพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่กิจกรรมต่างๆ ที่ทำผ่านแอปพลิเคชัน ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคสมัยนี้ รูปแบบของการทำงานเองก็เช่นกัน หน้าที่การทำงานในรูปแบบเดิมๆ บางอย่างก็หายไป มีการใช้เครื่องมือทันสมัยมากขึ้น ลดการใช้คนลง และอาจจะมีอีกหลายอย่าง ที่เครื่องมือสามารถทดแทนคนได้ ดังนั้น ต้องมีการเตรียมพร้อมกับโลกที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และนี่ก็อาจจะส่งผลทำให้หลายคนประสบกับภาวะได้เงินชดเชยแทนการทำงานก็เป็นได้
หากใครที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ หรืออาจจะต้องพบกับเหตุการณ์แบบนี้ในระยะเวลาอันใกล้ ก็ต้องหันมามองดูรอบๆ ตัวว่าถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้เพียงพอไหม สามารถหางานที่ใหม่ได้ทันทีหรือเปล่า หรือหากอยากทำเองอิสระเรามีความสามารถที่จะทำเองได้หรือเปล่า
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายเรียบร้อย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งในนั้นมีเรื่องที่น่าสนใจในกรณีที่เราทำงานบริษัทแล้วบริษัทเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้มีความผิดใดๆ รวมถึงกรณีลูกจ้างทำงานจนเกษียณจากการทำงาน ก็ได้รับเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างเช่นกัน แต่จะได้มากน้อยเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการทำงานด้วย ปัจจุบันเกณฑ์การจ่ายเงินค่าชดเชยเลิกจ้าง เป็นดังนี้
- ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 400 วัน
มีการเพิ่มให้สำหรับลูกจ้างที่มีการทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่า 400 วัน มากกว่าเดิมที่ได้รับเพียง 300 วันเท่านั้น
เงินชดเชยนี้จะได้รับเมื่อบริษัทเลิกจ้าง หรือเราทำงานจนเกษียณ ฟังดูเผินๆ เหมือนบริษัทจะให้เงินชดเชยเยอะมาก แต่เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนที่ได้รับก็จะประมาณ 13 เดือนเศษเท่านั้น หรือประมาณ 1 ปี กับอีก 1 เดือนเศษเท่านั้นเอง หากเราได้เงินก้อนนี้แล้วใช้จ่ายแบบไม่ยั้งคิด ก็อาจจะหมดเร็วกว่า 1 ปี
แต่ถ้าหากเราทำงานไม่ถึง 20 ปี เนื่องจากมีการเปลี่ยนงานบ่อย ทำงานที่สุดท้ายได้เพียง 10 ปีกว่า ก็จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือนเท่านั้น
หากบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็จะโชคดีหน่อยที่ได้มีการสะสมเงินและบริษัทมีการสมทบเงินให้บางส่วน เพื่อให้ลูกจ้างอย่างเราได้มีเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณได้บ้าง แต่ถ้าหากบริษัทไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราเหล่าลูกจ้างก็อย่าได้ประมาทหวังเพียงแค่เงินชดเชย เพราะหลายคนเมื่อได้มาก็หมดไปกับการโปะ ปิดภาระหนี้ที่มี ทำให้สุดท้ายแล้วไม่มีเงินสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณแต่อย่างใด
ที่ลืมไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือเงินจากกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน หากเราทำงานไม่ไหวเครียดจัด ลาออกจากที่ทำงาน จะได้รับเงินชดเชย 30% ของรายได้ (รายได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) หรือเท่ากับ 4,500 บาท เป็นเวลานาน 3 เดือน
หากเราโดนไล่ออกแบบไม่มีความผิด หรือบริษัทจำเป็นต้องปิดตัวลงจริงๆ ก็จะได้รับเงินชดเชย 50% ของรายได้ หรือเท่ากับ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งในช่วงระหว่างนี้ ควรต้องเร่งรีบหางานใหม่ทำให้ได้ เพราะมิฉะนั้น อาจจะไม่มีเงินไว้ใช้จ่าย และเกิดความตึงเครียดขึ้น
ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณ ก็ยังได้รับสิทธิจากประกันสังคมเช่นกัน ซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี หากเกษียณ 60 ปี ก็ได้รับสิทธิเช่นกัน และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมอีก) หากส่งเงินสมทบชราภาพน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จ แต่ถ้าหากส่งตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญ โดยส่วนที่มากกว่า 180 เดือน จะได้รับปีละ 1.5% หรือปีละ 225 บาท (คำนวณจากเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)
หากส่งเงินสมทบมา 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญ เท่ากับ 15,000 x 20% = 3,000 บาท
หากส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี จะได้รับเงินบำนาญ 3,000 + ( 225 x 5 ปี) = 4,125 บาทต่อเดือน จะได้รับไปจนกว่าจะจากไป แต่ถ้าหากได้รับเงินบำนาญชราภาพไม่ถึง 5 ปี แล้วเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน
ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท อย่าหวังเพียงแค่เงินชดเชย เราต้องพึ่งพาตัวเอง เริ่มลงทุนกันเสียแต่วันนี้ เพื่อให้มีเงินไว้ใช้หลังเกษียณ หากใครที่ทำงานมีเงินได้ ต้องเสียภาษี กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนที่ต้องมี เนื่องจากมีหลากหลายนโยบายลงทุน เมื่อลงทุนแล้วต้องลงทุนต่อเนื่องยาวๆ ไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องอายุครบ 55 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถขายคืนได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขทางภาษี เป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
แต่หากให้ดีแนะนำให้มีการทยอยลงทุนทุกเดือน เพื่อเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุน และทำให้เรามีวินัยในการลงทุน เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เงินที่ได้รับในแต่ละเดือนก็อาจจะหมดไปกับการช้อปปิ้ง ซื้อของลดราคา หรือหมดไปกับของใช้ฟุ่มเฟือยเป็นแน่แท้