Earning Yield Gap

Earning Yield Gap

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์ BF Knowledge Center ส่วนต่างระหว่างผลกำไรของหุ้นกับผลตอบแทนพันธบัตร (Earning Yield Gap) เป็นการเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงสูง(หุ้น)กับสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ(พันธบัตรรัฐบาล) เพื่อใช้พิจารณาในการจัดสรรเงินลงทุนระหว่างสินทรัพย์ต่างๆ ในพอร์ต (Asset Allocation) ผลกำไรของหุ้น (Earning yield) คำนวนโดยใช้กำไรต่อหุ้นปีล่าสุดหารด้วยราคาหุ้น แสดงถึงอัตรากำไรที่บริษัทหรือกิจการนั้นทำได้ ส่วนใหญ่จะใช้ค่า Earing yield ของตลาดซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของหุ้นทั้งหมด  ผลตอบแทนของพันธบัตรที่เปรียบเทียบจะใช้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี โดยเป็นมุมมองของการลงทุนระยะยาว ส่วนต่างๆ (Gap) ดังกล่าวขึ้นอยู่กับภาวะเศณษฐกิจการลงทุนในช่วงต่างๆ โดยหลักการแล้วส่วนต่างควรมีค่าเป็นบวก หมายถึงผลตอบแทนของหุ้นต้องสูงกว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ Earning yield gap ที่สูงแสดงว่าหุ้นให้ผลตอบแทนที่น่าลงทุนมากกว่าตราสารหนี้ในช่วงเวลานั้น นักลงทุนควรวางแผนการลงทุนโดยให้น้ำหนักกับหุ้นมากขึ้น (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนแต่ละท่านและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้) หาก gap ต่ำ แสดงว่าการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรยังให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าความเสี่ยง นักลงทุนควรพิจารณาลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น หันมาเพิ่มน้ำหนักในตราสารหนี้

อัตราเงินปันผล (Dividend Yield) 

อัตราเงินปันผล (Dividend Yield) 

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์ BF Knowledge Center อัตราเงินปันผลคำนวนได้จากเงินปันผลต่อหุ้นหารด้วยราคาหุ้นในปัจจุบัน  เงินปันผลที่ใช้คำนวนสามารถใช้เงินปันผลในรอบปีที่ผ่านมาหรือเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับใน 1 ปีข้างหน้า ข้อมูล Dividend yield ที่รายงานโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้เงินปันผลรอบปีล่าสุด แต่นักวิเคราะห์มักจะคำนวนโดยประมาณการเงินปันผลที่คาดว่าบริษัทจะจ่ายใน 1 ปีข้างหน้า โดยนักลงทุนระยะยาว (2-3 ปีขึ้นไป) มักให้ความสำคัญกับอัตราเงินปันผล เพราะคาดหวังกับการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นในระยะยาวมากกว่าการซื้อขายทำกำไรในระยะสั้น ดังนั้นเงินปันผลที่ได้รับถือเป็นกำไรส่วนเพิ่มซึ่งได้รับตลอดระยะเวลาที่ถือครองหุ้น หุ้นที่จ่ายปันผลต่ำบางครั้งเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจสูงจึงจำเป็นตัองเก็บกำไรไว้ลงทุนเพื่อขยายกิจการ ทำให้จ่ายเงินปันผลได้น้อย แต่ถ้ากิจการขยายตัวได้ดีจริงจะทำให้มูลค่าหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะยาว บริษัทที่จ่ายปันผลสูงอาจเป็นธุรกิจที่มีกำไรดีแต่ไม่เติบโตมาก ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนสูง การลงทุนจึงควรพิจารณามิติอื่นๆ ประกอบให้สอดคล้องกับเป้าหมายของนักลงทุนแต่ละท่าน

Book Value (มูลค่าทางบัญชี) 

Book Value (มูลค่าทางบัญชี) 

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์ BF Knowledge Center Book value (BV) เป็นการวัดมูลค่าของบริษัทโดยใช้ตัวเลขทางบัญชี วิธีการวัดจะใช้มูลค่าทรัพย์สินของบริษัทตามที่บันทึกไว้ในบัญชีซึ่งได้ปรับปรุงตามมาตรฐานทางบัญชีอยู่เสมอ หักด้วยหนี้สินทั้งหมด ก็จะได้มูลค่าของบริษัทที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้าหารด้วยจำนวนหุ้นจะได้เป็นมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ถ้าบริษัททำธุรกิจได้ดีเจริญเติบโต ทรัพย์สินก็จะงอกเงยเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าทางบัญชีก็จะสูงขึ้นตาม ในทางกลับกัน หากธุรกิจไม่ดีบริษัทประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ทรัพย์สินและมูลค่าทางบัญชีก็ลดลงตาม นักวิเคราะห์การลงทุนใช้ราคาหุ้นหารด้วยมูลค่าทางบัญชีได้ตัวเลข Price to Book value (P/BV) เพื่อเปรียบเทียบความถูกหรือแพงของหุ้น โดยหุ้นที่ P/BV ต่ำถือเป็นหุ้นที่มีราคาถูกน่าลงทุน ส่วนหุ้นที่ P/BV สูงเป็นหุ้นที่ไม่น่าลงทุน คล้ายกับการใช้ค่า P/E การใช้ Book value ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ประการแรกมูลค่าทางบัญชีของทรัพย์สินต่างๆ อาจสูงหรือต่ำกว่าราคาตลาดที่ทรัพย์สินนั้นซื้อขายได้จริง ประการที่สอง ความสามารถการกำไรในอนาคตและการเติบโตของบริษัทไม่ได้สะท้อนอยู่ใน Book value

Backdoor listing (การตลาดทางอ้อม)

Backdoor listing (การตลาดทางอ้อม)

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์ BF Knowledge Center บริษัทที่ต้องการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยปกติจะยื่นขอจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย และใช้ระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ในกรณีที่ต้องการลดเวลาและขั้นตอน บางบริษัทอาจเลือกวิธีการเข้าซื้อกิจการ (Takeover) หรือ เข้าควบรวมกิจการ (Merge) กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียทางอ้อม มีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งระดมทุนของกิจการ ทั้งนี้อาจเข้าซื้อหรือควบรวมกับบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันอยู่แล้ว  หรือบริษัทที่ทำธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และเเปลี่ยนแปลงปรับโครงสร้างให้หันมาทำธุรกิจที่ต้องการภายหลัง

Takeover (การครอบงำกิจการ)

Takeover (การครอบงำกิจการ)

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์ BF Knowledge Center เมื่อนักลงทุนรายใดหรือกลุ่มใดต้องการถือหุ้นในบริษัทโดยต้องการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนที่ทำให้มีอำนาจในการเข้าบริหารกิจการ จึงทำการซื้อหุ้นในตลาดจากนักลงทุนรายย่อยหรือขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิม นักลงทุนนั้นอาจมองเห็นว่าบริษัทดังกล่าวเป็นกิจการที่ดี มีรายได้และกำไรดี อยู่ในธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง หากลงทุนตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจแบบเดียวกัน อาจต้องใช้เวลา ทรัพยากรและบุคคลากรจำนวนมาก จึงเข้าซื้อบริษัทที่ทำธุรกิจนั้นอยู่แล้วและเข้าบริหารกิจการเอง หรือจ้างนักบริหารมืออาชีพให้บริหารแทน การขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมที่ยินยอมพร้อมใจขายให้หุ้นให้บางส่วนหรือทั้งหมด ถือเป็นการครอบงำกิจการแบบเป็นมิตร (Friendly Takeover) กรณีที่ผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดิมปฏิเสธการขายหุ้น ผู้ลงทุนรายใหม่จึงต้องเข้าซื้อหุ้นในตลาดให้ได้จำนวนที่มากพอ โดยผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดิมอาจเข้าแย่งซื้อหุ้นในตลาดเพื่อครอบครองสัดส่วนการถือครองหุ้นให้มากกว่าเพื่อรักษาอำนาจในการบริหารบริษัท จึงเรียกว่าเป็นการครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover)

Stock Buyback (การซื้อหุ้นคืน)

Stock Buyback (การซื้อหุ้นคืน)

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์ BF Knowledge Center บริษัทจดทะเบียนสามารถซื้อหุ้นของตัวเองในตลาดด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังนี้ เพื่อลงทุน – โดยบริษัทมองเห็นว่าหุ้นของตัวเองมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งประเมินจากผลประกอบการและฐานะการเงิน รวมทั้งแนวโน้มและอัตราเติบโตของกิจการ เนื่องจากบริษัทรู้ข้อมูลและสถานะที่แท้จริงของกิจการดีกว่านักลงทุนทั่วไป จึงเข้าซื้อหุ้นที่ราคาต่ำเก็บไว้เป็นการลงทุน และขายออกไปเมื่อราคาหุ้นสูงขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าหุ้น – การซื้อหุ้นคืนส่งผลให้ลดจำนวนหุ้นที่อยู่ในมือนักลงทุน  หากผลกำไรของบริษัทไม่ลดลงจะทำให้กำไรต่อหุ้นสูงขึ้น และสามารถจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นสูงขึ้นกว่าเดิม มูลค่าหุ้นทางบัญชี (Book value) และมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม (Intrinsic value) จึงเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้รางวัลแก่ผู้บริหารและพนักงาน – บริษัทที่มีนโยบายให้รางวัลหรือโบนัสแก่ผู้บริหารและพนักงานเป็นหุ้นของบริษัท (Employee stock option plan : ESOP) เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในกิจการและเป็นแรงจูงใจในการทำงาน โดยปกติจะออกหุ้นเพิ่มทุนหรือออปชั่นเพื่อแจกให้ผู้บริหารและพนักงาน แต่บริษัทอาจเลือกใช้วิธีซื้อหุ้นในตลาดที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม และนำไปแจกจ่ายแทนการเพิ่มทุน เพื่อหลีกเลี่ยงผลของ Dilution effect (กำไรต่อหุ้นลดลงจากการเพิ่มทุน)

Penny Stock (หุ้นต่ำสิบ)

Penny Stock (หุ้นต่ำสิบ)

By… ศรศักดิ สร้อยแสงจันทร์ BF Knowledge Center Penny stock หมายถึงหุ้นที่มีราคาต่ำ (เช่น ต่ำกว่า 5 เหรียญในอเมริกา) ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นของบริษัทที่มีขนาดเล็ก หรือมูลค่าตลาดต่ำ (Small Market cap) บางกรณีอาจเป็นบริษัทใหญ่ แต่ประสบภาวะขาดทุนสะสมจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำยาวนาน ในเมืองไทยคงเทียบได้กับหุ้นที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่าสิบบาท หุ้นต่ำสิบเป็นมักที่สนใจของนักลงทุนที่รายใหญ่และรายย่อย เนื่องจากมีทุนจดทะเบียนหรือปริมาณหุ้นที่หมุนเวียนต่ำและราคาต่ำ การเข้าเก็งกำไรหรือปั่นหุ้นจึงใช้เงินทุนไม่มาก และนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงหุ้นประเภทนี้ นักลงทุนรายใหญ่จะใช้วิธีทยอยเข้าเก็บหุ้นเงียบๆ จนได้หุ้นจำนวนมากพอและปริมาณหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดน้อยลงและเข้าซื้อต่อเนื่องเพื่อไล่ราคาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจปล่อยข่าวลือต่างๆ ที่ส่งผลทางจิตวิทยาเพื่อจูงใจให้นักลงทุนรายย่อยโดดเข้ามาเก็งกำไร บางครั้งก็ร่วมมือกับเจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารให้นำเสนอข่าวในทางบวก จากนั้นจึงค่อยๆ ทยอยขายออกโดยเก็บเกี่ยวกำไรจนเป็นที่พอใจ นักลงทุนรายย่อยบางครั้งก็พอรู้ทัน แต่คาดหวังว่าจะเข้าซื้อขายเก็งกำไรอย่างรวดเร็วและหนีออกทัน หากบริษัทเล็กๆ มีศักยภาพหรือแนวโน้มการเติบโตที่ดี หุ้นต่ำสิบก็เป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนระยะยาวโดยคาดหวังว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จกลายเป็นบริษัทขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ในอนาคต ทำให้มูลค่าและราคาหุ้นสูงขึ้น แต่นักลงทุนต้องติดตามศึกษาขัอมูลของบริษัทและธุรกิจให้ลึกซึ้ง จนสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงกับข่าวลือข่าวลวงต่างๆ จึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุนกับหุ้นต่ำสิบ

การบันทึกมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Mark-to-market) 

การบันทึกมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Mark-to-market) 

หลักทรัพย์ที่มีตลาดรองซื้อขายเปลี่ยนมือ ย่อมมีราคาซื้อขายหรือราคาตลาดซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พอร์ตลงทุนของกองทุน่ต่างๆ เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องปรับมูลค่าหลักทรัพย์ที่ลงทุนให้สะท้อนราคาตลาดตลอดเวลา และให้มูลค่ากองทุนแสดงสถานะที่แท้จริงในปัจจุบัน โดยถือเป็นมาตรฐานการดำเนินงานและเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสำนักงาน กลต การปรับมูลค่าหุ้นในพอร์ตตามราคาตลาดน่าจะเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากเพราะราคาหุ้นเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตอนเวลา แต่กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ก็ต้องปรับมูลค่าตราสารหนี้ที่ถือให้สะท้อนราคาตลาดเช่นเดียวกัน ถึงแม้กองทุนต้องการถือครองตราสารหนี้เพื่อรับดอกเบี้ยจนครบอายุ และรับเงินต้นคืนเต็มจำนวน ไม่ได้ต้องการขายออกจากพอร์ตก่อนครบอายุ ก็ต้องบันทึกมูลค่าตราสารหนี้ตามราคาตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกันหุ้น เพื่อให้มูลค่ากองทุนสะท้อนมูลค่าปัจจุบันหากต้องขายตราสารหนี้ออกไป และเพื่อคำนวนเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยของกองทุนให้นักลงทุนที่ต้องกาซื้อ/ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในราคาที่เป็นเหมาะสมและเป็นธรรม (Fair value) กับทั้งสองฝ่าย

อัตราผลตอบแทนเมื่อถือครบอายุ (Yield to Maturity: YTM)

อัตราผลตอบแทนเมื่อถือครบอายุ (Yield to Maturity: YTM)

นักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ในตลาดรอง ราคาที่ซื้อมักไม่เท่ากับราคาหน้าตั๋ว เพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ วันที่ซื้อ/ขาย ย่อมแตกต่างจากวันที่ตราสารหนี้ออกขายครั้งแรก ราคาตราสารหนี้จึงต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะดอกเบี้ยปัจจุบัน จึงทำให้ราคาที่ซื้อขายกันสูงหรือต่ำกว่าราคาหน้าตั๋วเสมอ หากอัตราผลตอบแทนในตลาด (Yield) สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) ตราสารหนี้นั้นจะซื้อขายที่ราคาต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว (Par) ในทางกลับกัน ถ้า Yield ต่ำกว่า Coupon ราคาซื้อขายจะสูงกว่า Par เมื่อตราสารหนี้ครบอายุนักลงทุนจะได้เงินต้นคืนเท่ากับราคาหน้าตั๋ว กำไร/ขาดทุนจากส่วนต่าง เมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่ได้รับนับจากวันที่ซื้อถึงวันครบอายุ นำมาคำนวนจะได้เป็นอัตราผลตอบแทนที่ถือจนครบอายุ (YTM) แสดงถึงผลตอบแทนที่แท้จริงซึ่งไม่เท่ากับ Coupon rate

ดอกเบี้ยกับอัตราผลตอบแทน

ดอกเบี้ยกับอัตราผลตอบแทน

ในด้านการลงทุน คำว่า อัตราดอกเบี้ย (Interest rate) กับ อัตราผลตอบแทน (Yield) เป็นคำที่คล้ายคลึงกันและถูกใช้สลับกันไปมา แต่ในรายละเอียดแล้วใช้แตกต่างกันในแต่ละโอกาส เงินฝากและตราสารหนี้ (พันธบัตร หุ้นกู้ และตั๋วเงิน) นั้น ธนาคารหรือผู้ออกตราสารหนี้จะระบุอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้นักลงทุนตามสัญญาจนกว่าจะครบกำหนด อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวของตราสารหนี้เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) ในกรณีที่นักลงทุนไม่ถือตราสารหนี้จนครบอายุโดยขายออกก่อน หรือนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ที่มีคนขายในตลาดรอง ส่วนต่างกำไร/ขาดทุนระหว่างราคาหน้าตั๋วกับราคาที่ขาย หรือราคาที่ซื้อกับราคาหน้าตั๋วที่ได้รับคืนเมื่อครบอายุ เมื่อนำมาคำนวนรวมกับดอกเบี้ยที่ได้รับ จะเรียกว่าอัตราผลตอบแทน (Yield) ซึ่งเป็นอัตราที่แตกต่างจาก Coupon rate อีกมุมหนึ่ง คำว่า อัตราดอกเบี้ยมักใช้กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรืออัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วของตราสารหนี้ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อถูกกำหนดโดยธนาคารหรือผู้ออกตราสาร ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่เกิดจากการอิทธิพลของอุปสงค์และอุปทานของตราสารหนี้ในตลาดซึ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดตามปัจจัยต่างๆ โดยใช้กับตราสารหนี้ทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะเจาะจง ถูกเรียกว่า อัตราผลตอบแทน (Yield)